จิ้งหรีดที่เจ็ดเสมียน

เรื่องเก่าๆ กับชาวเจ็ดเสมียน

Imageจิ้งหรีดที่เจ็ดเสมียน

เมื่อ เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗ นักเรียนโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน รุ่นผม ก็เรียนจบชั้น ประถมปีที่ ๔  ในวันสุดท้ายที่พวกเราสอบกันเสร็จ ในตอนบ่ายๆวันนั้น  และตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปโรงเรียนก็จะหยุด เทอมยาว ไปจนประมาณ ต้นเดือน พฤษภาคมในปีเดียวกันนี้ พวกผมซึ่งจบชั้น ป. ๔ ในปีนี้จึงไม่ต้องมาเรียนอีกเลย นอกจากจะมาทำธุระที่โรงเรียน เช่น มาฟังผลการสอบ และมาขอใบสุทธิเพื่อเป็นหลักฐานในการไปสมัครเรียนที่อื่นๆต่อไป
          ในรุ่นของผมนั้น มีเด็กที่จบ ป. ๔ พร้อมๆกัน หลายคน โดยการเคี่ยวเข็ญของคุณครู ประวิทย์ ไทยแช่ม ครูประจำชั้น ป. ๔ นั่นเอง ในจำนวนเด็กที่จบชั้นนี้พร้อมๆกัน ประมาณ ๓๐ คนนั้น ผมจะไม่กล่าวถึงเพื่อนร่วมห้องทั้งหลายหรอก เพราะผมก็จำชื่อส่วนใหญ่ไม่ได้แล้ว เอาเป็นว่าผมก็จะขอเอ่ยถึงเพื่อนสนิทของผมคนหนึ่งเพียงคนเดียวก็แล้วกันนะครับ

        

         รัมภา วงศ์ยะรา ซึ่งเป็นลูกของกำนันโกวิท และเป็นน้องสาวของ เฮียตี๋ (ชีพ ชูชัยแห่งตำบลเจ็ดเสมียน) คือคนที่ผมจะเอ่ยถึง ที่สนิทกับผมกว่าคนอื่นๆ  เพราะเหตุว่า เมื่อพ่อผมยังทำงานเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนนั้น ก็ได้ไปช่วยงานที่บ้านกำนันโกวิท ทำหน้าที่เป็นเสมียนที่บ้านกำนันโกวิทเป็นประจำ ทำให้ผมได้ติดตามพ่อของผมไปคลุกคลี อยู่ที่บ้านกำนันแทบทุกครั้งที่พ่อผมไปที่บ้านกำนันด้วย 
        
         ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผมได้สนิทสนมกับ รัมภามาก อีกอย่างหนึ่ง เราเกิดปีเดียวกัน จึงได้เรียนหนังสืออยู่ชั้นเดียวกัน (สำหรับเพื่อนของผมอีกหลายๆคน ที่ผมเคยเอ่ยถึงในตอนก่อนๆนั้น เกิดปีเดียวกันกับผมก็จริงอยู่ แต่ทุกคนเรียนทีหลังผม ๑ ปี ทั้งนั้น เพราะว่า ผมกับรัมภา ๒ คนเท่านั้น เข้าเรียนก่อนเกณฑ์ ๑ ปี)
        
        และเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗ นั้นเราสอบเทอมปลายกันเสร็จเป็นวันสุดท้ายแล้วดังที่ได้กล่าวมาในตอนต้น เมื่อผมเดิน ออกมาจากห้องที่สอบนั้น ผมเห็น รัมภา ยืนอยู่ที่ระเบียงของโรงเรียน เขาคงจะทำการสอบเสร็จก่อนผมแล้วออกมายืนอยู่ข้างนอกห้อง ในตอนหลังจึงได้รู้ว่ารัมภาออกมายืนรอผม ผมเดินเข้าไปหาเขา แล้วก็ถามว่า เสร็จนานแล้วหรือ ทำได้ไหม  รัมภาว่า  ก็เพิ่งเสร็จ พอทำได้ไม่ค่อยยากเท่าไร แล้วเราก็คุยอะไรต่างๆกันอีกเล็กน้อย 

         

 ท่านผู้นี้ไม่ใช่คุณครูนะครับ แต่เป็นคนเก่าแก่ของเจ็ดเสมียน คนหนึ่ง คือ คุณน้อย (ต้นกำเนิด หัวไชโป๊ว ตราชฎา) เมื่อสมัยยังสาวอยู่ เดินจูงจักรยาน ผ่านหน้าโรงเรียน วัดเจ็ดเสมียน อาคารโรงเรียนหลังนี้ อยู่ทางด้านซ้ายมือของอาคารเรียนหลังใหญ่ครับ มีต้นสนหลายต้นอยู่หน้าอาคารหลังนี้ในปัจจุบันนี้ได้รื้อไปแล้ว และได้ปลูกขึ้นใหม่ในที่ตรงนี้อีกหลายครั้ง

               ในสุดท้ายก่อนที่เราจะแยกย้ายกันกลับบ้านในวันนั้น รัมภาถามผมว่า เมื่อจบจากที่นี่แล้ว เก้วจะเรียนต่อไหม ถ้าเรียนต่อจะไปเรียนที่ไหน ผมก็บอกว่า พ่อผมเขาก็คงจะให้เรียนต่อนะ แต่ไม่รู้ว่าจะเรียนต่อที่ไหน คงจะไปเรียนที่โพธารามเหมือนคนอื่นๆ ในตลาดนั่นแหละ เพราะว่าตอนนี้ยังไม่รู้อะไรแน่นอน พ่อก็ไม่อยู่ ไปทำงานโรงเลื่อย ที่บ้านโป่ง ยังไม่ได้กลับมา ยังไม่ได้เจอกันเลยจึงยังไม่รู้ว่าจะได้เรียนต่อ หรือถ้าได้เรียนต่อก็ยังไม่รู้ว่าจะไปเรียนที่ไหน
       
         รัมภาก็ว่า ของเราคงจะเรียนต่อในกรุงเทพฯ พ่อบอกว่า อีกสองสามวันจะให้ไปทดลองอยู่ที่บ้านญาติในกรุงเทพฯ ก่อนโรงเรียนเปิดเพื่อให้คุ้นเสียก่อน  และอีกอย่างพี่ตี๋ (ชีพ ชูชัย แห่งตำบลเจ็ดเสมียน ) ก็เรียนอยู่ที่กรุงเทพฯอยู่แล้ว  ก็คงจะเป็นการแน่นอนล่ะนะว่าเราต้องไปอยู่ที่กรุงเทพฯแน่ๆ  ผมก็บอกว่า ก็ดีนะถ้ายังเรียนอยู่ในอำเภอเราหรือจังหวัดเราก็คงจะไม่เก่งและจะไปไม่ถึงไหนหรอก เข้ากรุงเทพฯ นั่นแหละโอกาสดีที่สุดแล้ว และเราก็เดินคุยอะไรกันอีกก่อนจะแยกจากกัน  รัมภาบอกว่า แล้วเราจะกลับมาเล่าให้เธอฟังนะว่า ไปอยู่ที่ไหนกันแน่ ผมก็พยักหน้ารับรู้
         
           และอีก สองสามวันต่อมา ผมก็ได้ไปที่บ้านกำนันโกวิทอีก คิดว่ารัมภาคงจะอยู่ที่บ้าน ผมมองหาอยู่นานก็ไม่เห็น พอดีป้าจ่าง แม่ของรัมภาเห็นผมเข้าก็เลยบอกว่า รัมภาไปกรุงเทพฯ ได้ สองวันแล้ว กว่าจะกลับมาก็โน่นแหละ ปลายๆหน้าร้อนนั่นแหละ พอดีมีคนที่กรุงเทพฯ ที่รัมภาจะไปอยู่ด้วยเขากลับมาเยี่ยมญาติพี่น้องพอดี ขาที่เขาจะกลับก็เลยให้รัมภาเขาไปด้วยเลยพอดี ไม่ต้องไปส่ง
         
           ผมได้รับรู้แล้วก็เฉยๆ เพราะคิดว่า ถึงอย่างไรรัมภาเขาก็ต้องไปอยู่กรุงเทพฯอยู่ดี ไม่เร็วก็ช้า แต่มาเสียดายอยู่อย่างเดียวคือ น่าจะได้คุยกันสักหน่อยก่อน  จากวันนั้นมา ผมก็ไม่ได้ข่าวของรัมภาเลย ว่าไปอยู่กรุงเทพฯ ที่ไหน เรียนอยู่โรงเรียนอะไร  เมื่อโรงเรียนปิดเทอมใหญ่แล้ว ผมก็ยังอยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียน
          ดังนั้นในตอนนี้จะขอพัก เรื่องของ รัมภา วงศ์ยะรา ไว้ตรงนี้ก่อน  อีกหลายปีต่อมา จึงได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง และจะเล่าเรื่องของเขาต่อ เมื่อถึงตอนนั้น..........!
         
        ผมยังไม่มีโครงการที่จะได้เรียนหนังสือหรือไม่ หรือถ้าได้เรียนต่อจะไปเรียนต่อที่ไหน อันนี้ขึ้นอยู่กับพ่อของผมคนเดียว แต่เวลานี้ พ่อผมได้ไปทำงานที่โรงเลื่อย ที่บ้านโป่งแล้ว หลังจากที่ลาออกจากโรงเลื่อยที่หัวหิน  และนานๆจึงจะได้กลับมาบ้านสักที ยิ่งโรงเรียนปิด ผมกับเพื่อนๆอีกหลายคนที่ตลาดนี้ ก็ยิ่งมีกิจกรรมมากมายยิ่งขึ้น บางวันในตอนเช้าๆ ผมกับ เพื่อนของผมบางคน ก็เดินออกจากบ้านไปที่ทุ่งนา ตรงหน้าโรงเรียน ใกล้ทางรถไฟ ที่ตรงนี้เขาไถดินไว้เป็นก้อนๆ เพื่อจะลงมือปลูกถั่วเขียว หลังจากเกี่ยวข้าวไปแล้ว 
         
          ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าผมกับเพื่อนๆบางคน มาทำอะไรกันที่ทุ่งนานี้ในตอนเช้ามากๆอย่างนี้ พวกผมมาจับจิ้งหรีดกันครับ จับไปเลี้ยงและไปกัดกัน ว่าของใครจะเจ๋ง กว่ากัน การเล่นกัดจิ้งหรีดถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่น่าสนใจของเด็กๆเจ็ดเสมียนนะครับ โดยเฉพาะช่วงหลัง ๆ ของการเก็บเกี่ยว ในตอนเช้าๆอย่างนี้เด็ก ๆ เช่นพวกผม จะเดินออกหาจิ้งหรีดตามท้องทุ่งนาที่มีอยู่มากเพื่อนำมากัด ประชันความแข็งแรงของจิ้งหรีดซึ่งจะสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆ อย่างพวกผมเป็นอันมาก
       
           การจับจิ้งหรีดจากรูหรือซอกดินที่แตกโดยจิ้งหรีดพวกนี้มันจะมี พฤติกรรมในการส่งเสียง อยู่นอกรูที่อาศัย ซึ่งพวกผม ต้องสะกดรอย เดินตามเสียงร้องของจิ้งหรีด จิ้งหรีดบางตัวได้ยินเสียงพวกเราเดิน ก็จะหนีลงไปในรูหรือซอกก้อนดิน ต้องใช้ก้านทางมะพร้าว หรือกิ่งไม่เล็กๆซึ่งถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่นำไปด้วย แหย่เข้าไปในรูหรือซอกดินที่จิ้งหรีดหนีลงไป โดยจิ้งหรีดจะกระโดดออกมาและก็จับได้ในที่สุด
       
        สำหรับจิ้งหรีดที่จับได้พวกผมจะใส่กระป๋องนมข้นเอาไว้ก่อน และ เมื่อจับได้พอสมควรแล้ว พวกผมก็จะนำกลับไปบ้าน เพื่อทำการคัดเลือกอีกครั้งหนึ่ง การคัดเลือกนั้นผมก็จะนำเอาถาดเคลือบใบใหญ่ๆ มาทำเป็นสถานที่คัดเลือก โดยจับจิ้งหรีดมาเป็นคู่ๆ ทีละคู่ ให้มันประลองกำลังกันดู เห็นแววว่าตัวไหนดีก็คัดเก็บเอาไว้ บางทีจับมาได้ตั้ง หลายสิบตัว คัดแล้วเหลือ ๔ – ๕ ตัวก็มี ส่วนที่เหลือก็จะนำไปปล่อยให้มันอยู่ ตามธรรมชาติของมันตามเดิม
                และทุกครั้งหลังเสร็จจากการนำจิ้งหรีดมากัดกันเพื่อทดสอบ โดยตัวที่ผ่านการคัดเลือกแล้วโดยสายตาของผมเอง จะต้องนำจิ้งหรีดตัวที่ได้รับการคัดเลือกนี้ ไปแช่น้ำเพื่อให้จิ้งหรีดอาบน้ำหรือว่ายน้ำเพื่อเป็นการรักษาบาดแผล อีกทั้งเป็นการทำความสะอาดตัวจิ้งหรีดด้วย ก่อนที่จะนำจิ้งหรีดที่คัดแล้วว่าดีและเก่งใส่กระป๋องหิ้วน้ำลูกใหญ่ๆ เอาก้อนดินมาใส่ พร้อมด้วยหญ้า
         แล้วประดิษฐ์ให้เหมือนธรรมชาติโดยจะมีอาหารของจิ้งหรีดซึ่งเป็นเม็ดถั่ว หรือเม็ดข้าวสาร บดให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปแช่น้ำผึ้ง (ถ้ามีนะ ถ้าไม่มีไม่ต้องก็ได้) เสียก่อนที่จะนำอาหารเหล่านี้ มาให้จิ้งหรีดกินเพื่อเป็นอาหารบำรุงร่างกาย แล้วจึงไปกัดกับของเพื่อนๆได้
        (ขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆที่ผมเล่าให้ท่านทราบนี้ เป็นการทำตามรุ่น พี่ๆ ของผมที่ตลาดเจ็ดเสมียน นี้นะครับ หาได้มีปัญญาคิดเองไม่)
         
        เพื่อนๆผมก็จะปฏิบัติต่อจิ้งหรีดที่ตัวเองจับมาได้แบบนี้ทุกคน บางที แม่ๆของแต่ละคน ก็ไม่ได้สนับสนุนให้ทำแบบนี้นะครับ  มักจะโดนแม่บ่นเอาทุกครั้งที่มีการทรมานจิ้งหรีด  ผมเคยได้ยิน ป้าเอ็ง แม่ไอ๊อู๊ด บ่นไอ๊อู๊ดว่า มึงจะไปจับมันมาทรมานทำไม เดี๋ยวก็บาปตายห่าหรอก ไอ้นี่...! ไอ้อู๊ดได้ยินแม่บ่นแล้ว ก็เอาหูทวนลมเสีย แล้วคิดเสียว่า แม่เขาหวังดีให้ศีลให้พร แล้วมันก็ไปจับจิ้งหรีดกับพรรคพวกต่อไป เด็กเจ็ดเสมียนสมัยของผมนั้นเป็นอย่างนี้แทบทุกคน

         

เด็กเจ็ดเสมียนหลายคนในกลุ่มนี้ ชอบไปจับจิ้งหรีดกัน จากทางซ้าย อโนทัย ไทยสวัสดิ์,ระฆัง สุวรรณมัจฉา, คนึง คุ้มประวัติ, ุสุเมธ วงษ์วานิช, รังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ ยืนหน้า, สุรพงษ์ แววทอง
ยืนหลัง, แก้ว สุวรรณมัจฉา,โอฬาร ลักษิตานนท์, สาธร วงษ์วานิช ยืนหลังสุด, เทียมชัย ลูกลุงทั้ง
(ขอโทษจำนามสกุลไม่ได้) สุดท้ายขวาสุด นายแอด  แววทอง  ผู้เดินข่าวแห่งตำบลเจ็ดเสมียน (ฉายา รู้ก่อนใคร ข่าวไปถึงนั่น)

         ในวันนั้นสายแล้ว แดดอ่อนๆขึ้นทางทิศตะวันออก สาดแสงมากระทบด้านหน้าของโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน ในตอนนี้พวกผมก็จับจิ้งหรีดได้คนละหลายๆตัวแล้ว พวกเราจับใส่กระป๋องนมข้นกัน แล้วก็เด็ดหญ้าแพรก ที่ขึ้นตามทุ่งนานั้นใส่ลงไปในกระป๋อง เพื่อให้จิ้งหรีดที่จับได้นี้กินในตอนที่มันหิวด้วย อาหารของจิ้งหรีดนั้น โดยมากก็จะเป็นเม็ดถั่ว หญ้าขนหรือหญ้าใบเล็กๆ เช่นหญ้าแพรก ที่เราเด็ดใส่กระป๋องไปด้วยนั่นเอง
         

         พวกเราเดินกลับบ้านกันพร้อมด้วยกระป๋องใส่จิ้งหรีด คนละลูก กลับไปบ้านใครบ้านมันก่อน เพื่อกินข้าวเช้า  เสร็จแล้วต่อจากนั้น พวกผมซึ่งได้นัดกันไว้แล้วก็จะไปพบกันที่ หน้าบ้านไอ้ธร เพื่อเอาจิ้งหรีดที่ได้จับเอาไว้เมื่อเช้านี้มาต่อสู้ประลองกัน จิ้งหรีดที่ผมจับได้ในเช้าวันนี้นั้น ได้ทองดำตัวใหญ่มา ๔ ตัว และทองแดงตัวธรรมดาอีก ๖ ตัว ซึ่งผมต้องเอากลับบ้านก่อนเพื่อคัด เอาไว้สักตัว สองตัวเท่านั้น

          นอกจากนั้นก็จะปล่อยไปเพราะฉะนั้นในวันนี้เมื่อผมไปคัดตามกรรมวิธีของผมแล้ว ตัวที่เด็ดที่สุดในวันนี้ของผมคือ ไอ้ตัวใหญ่ทองดำนั่นเอง
        ไอ้ธร มันกินข้าวเสร็จแล้ว มันก็เตรียมกล่องกระดาษใบใหญ่ เอามาไว้ทำเวที ของการต่อสู้ กัดจิ้งหรีดกัน (จริงๆแล้ว เวทีการต่อสู้ของจิ้งหรีดนั้น เขาจะเอาโหลใหญ่ เป็นแก้วใส ใส มาเป็นเวที เพราะว่าคนดูรอบๆข้างจะได้เห็นอย่างชัดเจนด้วย)
          
         พวก ไอ้อู๊ด ไอ้โห้ ไอ้บูรณ์ ไอ้โล ไอ้วี กินข้าวเสร็จแล้วก็ทยอยกันเดินมาที่หน้าบ้านไอ้ธร และถือกระป๋องนมข้น ที่ใส่จิ้งหรีดมาด้วยคนละกระป๋อง  ผมมาถึงทีหลังเขาเพื่อน เพราะว่ามัวแต่ดูจิ้งหรีดที่จับได้อยู่ที่บ้าน และคัดเอาแต่ที่เห็นว่ามันจะสู้เขาได้ มาสองตัวเท่านั้น คือไอ้ทองดำใหญ่ตัวหนึ่ง และ ทองแดงปานกลางอีกตัวหนึ่ง
           เมื่อผมมาถึงหน้าบ้านไอ้ธร (ซึ่งห้องนั้นอยู่ใกล้ห้องเฮียแก่เล็ก) เห็นเด็กๆเจ็ดเสมียนหลายคน มุงดูจิ้งหรีดกำลังกัดกันอยู่ เสียงเชียร์กันให้ลั่นไปหมดโดยมีเฮียแก่เล็ก ลูกพี่ของเด็กตลาดทั้งหลายในสมัยนั้น กำลังนั่งเป็นกรรมการ อยู่อย่างขมักเขม้น ผมเห็น ไอ้โล กำลังเอาก้านไม้เล็กๆ ติดเส้นผมสองสามเส้น ยาวประมาณ ๑ ซ.ม.ติดที่ปลายไม้ด้วยดินเหนียว ปั่นให้จิ้งหรีดในสนามนั้นตัวหนึ่ง กำลังคึกคักและงงกำลังดี พร้อมที่จะกระโจนเข้าลุยคู่ต่อสู้ ทันทีที่ได้รับสัญญาณ
           
         ผมถามเด็กรุ่นน้องผมว่า ตัวที่กำลังกัดกันนั้นเป็นของใคร  สุเมธ วงษ์วานิช (ไอ้เมต) น้องของ ไอ้ธร บอกว่า ทองแดงตัวขนาดธรรมดานั้นเป็นของเฮียอู๊ด (โอฬาร ลักษิตานนท์ ) ส่วนทองแดงเหมือนกันแต่ใหญ่กว่านิดหน่อย อีกตัวหนึ่งนั้น เป็นของเฮียโล (อโนทัย ไทยสวัสดิ์ อดีต หัวหน้าศูนย์เครื่องมือกลระดับ ๘  ของกรมทาง ประจำจังหวัดกาญจน์บุรี
       
          จิ้งหรีดสองตัวในเวทีชั่วคราวนั้นกำลังกัดกัน คือเอาเขี้ยวของมันทั้งคู่นั้นดันกันอยู่ สักครู่ผมก็เห็นว่า ทองแดงของไอ้โล นั้นส่อแววแพ้เสียแล้วไอ้โลจะเอาหนวดปลอม ปั่นมันเท่าไร ก็ฮึดไม่ขึ้นแล้ว  มันวิ่งหนีและกระโดดไปรอบๆสนาม เฮียแก่เล็กเห็นดังนั้นแล้ว จึงเอาฝ่ามือกันให้จิ้งหรีดสองตัว หยุดกัดกันทันที แล้วเฮียแก่เล็กก็ประกาศว่า ทองแดงของไอ้โลแพ้แล้ว ไอ้โลเห็นดังนั้น ก็รีบเอื้อมมือลงไปกันมันออก แล้วจับของตัวเองขึ้นมา 

        

ทุ่งนาที่เห็นอยู่ทางด้านหลังในภาพนั้นคือ ทุ่งนาหน้าโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน
(โรงเรียนอยู่ทางด้านซ้ายมือ มองไม่เห็นในภาพ) ที่พวกเราชอบมาจับจิ้งหรีดกันเป็นประจำ

 
        เป็นอันว่าในรอบนี้ จิ้งหรีดทองแดงของไอ้โล แพ้อย่างราบคาบ ทำให้ไอ้โล อารมณ์เสีย อยากจะเอาตัวอื่นของมัน แก้ตัวอีก แต่ว่ารอบนี้ต้องผลัดให้คนอื่นบ้าง จน สุพจน์  ไทยสวัสดิ์ (ไอ้คด ปัจจุบัน เป็นหัวหน้าแขวงการทาง เขตราชบุรี กินอาณาเขตไปถึง นครปฐม) บอกว่าใจเย็นๆน่า เฮียโล เดี๋ยวถึงคิวแล้วได้ลงกัดอีก  ทำให้ไอ้โลมัน หายอารมณ์เสียไปได้บ้าง เหตุที่เป็นดังนี้เพราะว่า ไอ้โล มันมั่นใจว่าจิ้งหรีดของมันรอบนี้ ต้องชนะแน่นอน เพราะตัวมันใหญ่กว่าแล้วก็ มันคัดมาเสียอย่างดีแล้ว
         

        การเอาจิ้งหรีดมากัดกันนั้น แต่ละคุ่ใช้เวลาไม่นานนักหรอกครับ ไม่เหมือนกับการชนไก่ การตีไก่นั้นใช้เวลานานมาก หลายอัน (อันหนึ่งหมายถึงว่า เขาเอากะลามะพร้าว มาเจาะรูที่ตูดมัน แล้วพอเริ่มต้นเขาก็เอากะลานั้นวางลงบนน้ำ กะลานั้น ตูดโดนเจาะรูอยู่แล้ว ก็จะค่อยๆจมลงไป พอจมลงไปแล้ว ก็เรียกว่า อันหนึ่ง หรือยกหนึ่งนั่นเอง) เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น ผมจึงขอ เสนอกติกาในการตีไก่มาให้ทราบเล็กน้อย ดังนี้ครับ

กฎกติกาในการชนไก่

           “   แรกเริ่มเดิมที่นั้น กฎกติกาในการชนไก่ไม่มีอะไรมากนัก คือมีดังนี้ เอาไก่สองตัวมาตีกัน ตีกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีฝ่ายแพ้ชนะ ไม่มีการพักยกให้น้ำไก่ ไม่มีการพันเดือยดังเช่นทุกวันนี้ แพ้เมื่อไหร่เลิกชนกันทันที
          และต่อมาการชนไก่เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนและเป็นที่นิยมกันมากขึ้นๆ กฎกติกาต่างๆ มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ เริ่มมีการจับเวลา โดยนำเอากะลามะพร้าวหรือขันที่เจาะรูมาวางลอยในภาชนะใส่น้ำ เช่น ตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ  กะละมัง หรือกระป๋องหิ้วน้ำ ตามแต่จะหาได้ในท้องถิ่น
         เมื่อกะลามะพร้าวหรือขันจมน้ำให้ถือว่าหมดเวลาชนกัน(ตีกัน) กะลามะพร้าวหรือขันน้ำจมน้ำเมื่อไหร่เรียกว่า "หมดหนึ่งอัน" มีการพักยกให้ไก่ได้พักเหนื่อย และเริ่มรู้จักการให้น้ำไก่ให้หายเหนื่อยและสดชื่นขึ้น ในช่วงพักยกนี้เขาก็จะใช้กะลามะพร้าวหรือขันอันเดิมลอยในน้ำเช่นเดียวกัน เมื่อกะลามะพร้าวหรือขันจมน้ำอีกครั้งหนึ่งก็ให้ถือว่าหมดเวลาพัก ตีหนึ่งอันและพักหนึ่งอันสลับกันไปเรื่อยๆ ส่วนจะชนกันกี่อันนั้น ขึ้นอยู่กับเจ้าของไก่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน “

          

         เรื่องของผมนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องตีไก่หรอกนะครับ แต่เอาเกร็ดเล็กๆน้อยๆมาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบบ้างเท่านั้นเอง
          กลับมาเข้าเรื่องการกัดจิ้งหรีดของพวกผมครับ คู่แรก ทองแดงของไอ้โล แพ้ไปแล้ว ๑ ตัว โดยแพ้ทองแดงของไอ้อู๊ด มัน ทองแดงของไอ้โลมันตัวค่อนข้างจะใหญ่กว่าของไอ้อู๊ดเล็กน้อย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ตัวใหญ่กว่าจะชนะตัวเล็กกว่านะครับ มันขึ้นอยู่กับว่า ตัวไหน พันธ์ไหน จะอึดและใจถึงกว่ากันเท่านั้น เช่นบางตัวเล็กกว่าก็จริง แต่มันก็สู้ยิบตา กัดฟันเอาชนะตัวโตๆไปได้

                                        ที่เขาเรียกว่ามีกึ๋นมากกว่ากัน นั่นแหละครับ...........!

            โปรดติดตามตอนต่อไป การจากเจ็ดเสมียนครั้งแรกของนายแก้ว                

                                                                       ในเร็วๆนี้ที่นี่ที่เดียว

 

 

 

 

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้204
เมื่อวานนี้496
สัปดาห์นี้700
เดือนนี้13618
ทั้งหมด1343502

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online