ตลาดนัด 1 (ประมูล กุลบุปผา )




        ห้องแถวรุ่นเก่า ห้องแรกทางซ้ายมือนั้น ในอดีตเป็นห้องของกำนัน โกวิท วงศ์ยะรา (ภาพปัจจุบันนี้ ถ่ายเมื่อ 8 สิงหาคม 51)

        ห้องแถวรุ่นเก่าที่ด้านหลังติดกับคลองเจ็ดเสมียนนั้น ถ้าคิดถึงบัดนี้ผมว่าอายุน่าจะเกือบร้อยปีแล้วกระมัง เพราะว่าสร้างกันตั้งแต่เมื่อไร และใครเป็นผู้สร้างเกินกว่าที่ผมจะรู้ได้ ใครมีบันทึกเรื่องนี้ช่วยบอกทีเถิด

        เดิมที ห้องแถวเหล่านี้จะเป็นห้องแถวชั้นเดียวเท่านั้น ต่อมาบางบ้านที่พอมีฐานะดีก็เริ่มพัฒนาเป็นสองชั้น เดี๋ยวนี้น่าจะเป็นห้องแถว 2 ชั้นกันหมดทั้ง 2 แถวแล้ว (ไม่แน่ใจ)  ตรงกลางระหว่างห้องแถวที่หันหน้าเข้าหากันนี้เป็นลานกว้าง เป็นที่ใช้สำหรับ ติดตลาดนัด ในวันขึ้นหรือแรม 3  ค่ำ 8 ค่ำ 13 ค่ำ วนเวียนกันอยู่เช่นนี้

        หมายความว่า ตลาดนัดเจ็ดเสมียนนี้ ห้าวันก็จะมีตลาดนัดครั้งหนึ่ง  ที่ริมแม่น้ำนั้น มีเรือจากต่างถิ่นมาจอดเรียงกันเป็นแถวหลายสิบลำตั้งแต่ก่อนวันมีตลาดนัด 1 วัน เรือที่มาจอดที่ริมตลิ่งใกล้ๆ ท่าน้ำเจ็ดเสมียนนี้ ทุกๆ ลำต่างก็คุ้นเคยกับคนที่ตลาดกันเป็นอย่างดี เพราะมาทุกๆ วันนัดเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว เพื่อมาค้าขายสินค้าของเขาในวันที่มีตลาดนัด  

 


        ภาพตลาดเจ็ดเสมียนในปัจจุบัน ลานกว้างตรงกลางนั้น เป็นที่ติดตลาดนัด ในทุกๆ 5 วัน ต้นไม้ที่เห็นอยู่แต่ไกลนั้นอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำแม่กลอง (ถ่ายเมื่อ 8 สิงหาคม 51)

        ที่ลานกว้างนี้ ในสมัยก่อนนั้น  มีต้นก้ามปูใหญ่อยู่สามต้น ถ้านับจากทางสถานีรถไฟมา ต้นก้ามปูต้นที่ 1 นั้น จะอยู่ตรงหน้าบ้านกำนันโกวิททีเดียว ขนาดของลำต้นก็จะเท่าๆ กันทั้งสามต้น  ส่วนต้นที่สองนั้น อยู่ตรงหน้าบ้านของผม ซึ่งอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างตลาดทั้งสองแถว พอดี




        ภาพข้างบนนี้คุณ ปราณี สุวรรณมัจฉา น้องสาวคนเล็กของผม ถ่ายคู่กับคุณ อาภรณ์ ลักษิตานนท์ น้องสาวของคุณ โอฬาร ลักษิตานนท์ (ไอ้อู๊ด) ที่ต้นก้ามปูใหญ่ ตรงหน้าบ้านผม โต๊ะที่เห็นด้านหลังนั้น เป็นโต๊ะของป้าแจ่ม แกใช้วางหาบขนมจีนของแก และที่เห็นด้านหลังทางซ้ายนั้น ห้องแถวแรกเป็นห้อง (บ้าน)ของกำนันโกวิท วงศ์ยะรา ตอนที่ยังไม่ได้ย้ายไปอยู่ ตลาดนอก  ภายหลังทั้งสองคนนี้ มีอาชีพเป็นครูทั้งสองคน ปัจจุบันนี้ คุณอาภรณ์ เป็นครู สอนเด็ก อยู่ที่โรงเรียน วัดท่ามะขาม ส่วนคุณปราณีนั้น สอนอยู่ที่ โรงเรียน วัดบ้านกล้วย

        ในวันมีตลาดนัดนั้น เขาจะขายของกันแต่เช้ามืด ส่วนพวกที่มาเรือแล้วก็จะจอดไว้ริมตลิ่งนั้น ในตอนกลางคืนก่อนจะถึงวันตลาดนัด พวกเขาก็จะขนของขึ้นมา บางเจ้าก็ขนมาเตรียมไว้ที่ร้านนัด (พวกเราเรียกกันว่า ร้านนัด เขาปลูกเป็นเพิง ไม่ใหญ่มากนัก ยาวเป็นแถวไป ตั้งแต่ต้นโพธิ์ใหญ่นั้น ไปประมาณสัก สิบกว่าห้อง) บางเจ้าก็ปูผ้ายาง หรือกางเต็นท์กัน แล้วก็เอาสินค้าขึ้นมากองไว้ เท่าที่ผมเห็นก็จะมีพวกแตงโม น้ำตาลปี๊บ หอยแมลงภู่ดอง ไส่ปี๊บไว้ เกลือ และพวกพืชผัก ของใช้ ของกิน ต่างๆ สินค้าเหล่านี้ไม่มีการหายเด็ดขาด

        ป้าแจ่ม ขายขนมจีน เมียลุงเกีย ซึ่งลูกของเขาเป็นเพื่อนกับผมเอง ชื่อเฮียก๊ก และก็ นายประมูล (ไอ้มูล) สำหรับเฮียก๊กนั้นอายุมากกว่าผมหลายปี (ชื่อจริงๆ ชื่อว่า พี่ประกาศ กุลบุปผา) ตอนแรกเป็นทหารเรือ แล้วต่อมา ก็ลาออกจากทหารเรือ ไปทำมาหากินอยู่ที่สหรัฐอเมริกา (ดูเหมือนว่า จะเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมัน ผมไม่แน่ใจนัก) ฐานะร่ำรวย จนกระทั่งเดี๋ยวนี้  ส่วนนายประมูลนั้นปีเดียวกับผม ตอนเด็กก็เป็นเพื่อนกัน วิ่งเล่นกันอยู่ที่ตลาด เคยไปกระโดดน้ำเล่นกันที่ต้นจันทน์ ท่าน้ำวัดเจ็ดเสมียนใกล้ท่าน้ำของโรงสีไฟ  แล้วว่ายน้ำเกาะเรือโยงที่ขนสินค้าผ่านท่าวัดนี้ ขึ้นไปทางเหนือ  เรือโยงที่เราเรียกกันก็คือ เรือยนต์ที่มีเครื่องขนาดใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ลากจูงเรือหลายๆ ลำในคราวเดียวกัน โดยเอาเชือกมนิลาควั่นเป็นเกลียว เส้นใหญ่ๆ ผูกต่อๆ กันไป พวกเด็กรุ่นผม ก็ว่ายน้ำไปเกาะเรือเหล่านี้ ทวนน้ำขึ้นไป บางทีก็ไกล กิโล สองกิโล เมื่อเห็นว่าไกลมากๆ แล้ว จึงล่องตามน้ำกลับลงมาที่ท่าเจ็ดเสมียน อย่างเดิม

        

         ภาพข้างล่างนี้ เจ้าของภาพที่ส่งมาให้ลงนั้น บรรยายมาคร่าวๆ ว่า "พี่ประกาศ ลูกชายคนโตของ ลุงเกีย ป้าแจ่ม ขายขนมจีน เป็นผู้นำทางเด็กเจ็ดเสมียน บางคน ไปเรียนต่อที่ สหรัฐอเมริกา และอีกหลายปีต่อมา ก็มีเด็กเจ็ดเสมียนได้ไปเรียน ที่อเมริกา กันอีกหลายคน เช่น นายรังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ คนหนึ่ง เป็นต้น"

         ส่วนคนในรูปนั้นขอบรรยายดังนี้ครับ คนที่ยืนซ้ายสุดนั้น คือ ลุงเกีย พ่อของพี่ประกาศ และ ประมูล คนถัดมา ใส่สูท นั้นก็พี่ประกาศ (เฮียก๊ก)เด็กนักเรียนที่ยืนอยู่หน้าเฮียก๊กนั้นก็ น่าจะเป็นน้องชายของ ไอ้มูล ได้ข่าวว่าก็เป็นทหารเรือเหมือนกัน ต่อมาผู้หญิง ที่เตี้ยสุดนั้น ป้าแจ่ม แม่ไอ้มูล ติดๆกับป้าแจ่ม นั้นก็ ป้าเอ็ง (คุณปราณีต ลักษิตานนท์ ) แม่ของคุณ รังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ แต่เจ้าของภาพไม่ได้บอกมานะครับว่า ถ่ายกันที่ไหน และถ่ายเมื่อไร ครับผม

 


         มาเข้าเรื่องกันต่อนะครับ  ผมกับไอ้มูลขึ้นไปบนต้นจันทน์เกือบถึงยอด แล้วก็กระโดดลงน้ำแบบพุ่งหลาวบ้าง ตีลังกาสองกลับบ้าง  หรือบางทีก็กอดเข่าเก็บตัวแบบลูกมะพร้าว หล่นถึงน้ำเกิดเสียงดังตูม น่าดู น่าชมมากทีเดียว แต่บางทีก็มีพลาดบ้างเหมือนกัน ถ้าเอาด้านท้องลงละก้อ จุกแทบจะโผล่จากน้ำไม่ขึ้นเลย

        เมื่อโตขึ้นประมูลก็ไปสอบเข้าเป็นทหารเรือ เหมือนพี่ชาย ได้ข่าวว่าก่อนปลดเกษียรจากทางราชการ ได้รับยศเป็น นายนาวาโท แต่เดี๋ยวนี้ไปอยู่ที่ไหนแล้วก็ไม่รู้ ผมไม่ได้ข่าวอีกเลย  (ได้รับแจ้งจากท่านผู้ที่ติดตามอ่านเรื่องของผมท่านหนึ่ง ซึ่งบ้านของท่านอยู่ที่ ฝั่งตรงกันข้ามกับ ตลาดโพธาราม บอกว่า นาวาโทประมูลนั้น ได้เสียชีวิตลงแล้ว เมื่อ วันที่ 1 มีนาคม พศ.2550 ผมก็ขอแสดงความเสียใจแก่ ครอบครัว และญาติพี่น้องของ นาวาโท ประมูล กุลบุป ผาด้วยครับ)

 


        รูปข้างบนนี้ถ่ายกันที่ริมแม่น้ำแม่กลอง ประมาณกว่า 55 ปีมาแล้ว เด็กตลาดส่วนหนึ่งนั่งเล่นกันอยู่  ข้างหลังนั้นเป็นท่าวัด ที่เราชอบไปกระโดดน้ำเล่นกัน ด้านขวามือเป็นวัดเจ็ดเสมียน มีต้นยางต้นใหญ่มากอยู่ต้นหนึ่ง เด็กที่เห็นข้างหน้า ระฆัง  สุวรรณมัจฉา (ไอ้บี้), รังสฤษดิ์  ลักษิตานนท์ (ไอ้สิทธิ์), อารีย์  สุวรรณมัจฉา(นังอึ่ง ที่กำลังหัวเราะงอหายอยู่) ที่นั่งอยู่สูงกว่าเพื่อน แก้ว  สุวรรณมัจฉา (ไอ้เก้ว ผู้เขียนเองนั่งลดหลั่นกันลงมา สาธร วงษ์วานิช(ไอ้ธร) , ประมูล  กุลบุปผา(ไอ้มูล) แล้วก็ โอฬาร  ลักษิตานนท์ (ไอ้อู๊ด)
 


        ต้นยางต้นใหญ่มากที่อยู่ข้างศาลา ใกล้ตลิ่งนั้น ทางวัดได้โค่นลง เมื่อ พ.ศ. 2500 ในวันนั้นตั้งแต่เช้า มีคนไปยืนดูเขาโค่นต้นยางต้นนี้กันรวมทั้งผมด้วย นายเล็ก เป็นคนปีนขึ้นไปแล้วเอาเชือกควั่นเกลียวเส้นใหญ่มาก ผูกกับกิ่งที่ใหญ่ที่สุดของต้น    (มีคนพูดว่า ถ้าไม่ใช่นายเล็ก แล้ว ก็ไม่มีใครมีความสามรถที่จะขึ้นไปบนต้นยางนี้ได้ นายเล็กคนนี้เคยตีผึ้งหลวงบนต้นยางใหญ่ต้นนี้ ซึ่งมีรังใหญ่เป็นเมตร มาแล้ว เป็นคนที่มีความสามารถจริงๆ)  แล้วปล่อยปลายเชือกให้ลงมาถึง คนที่อยู่ข้างล่าง เพื่อว่าเวลาต้นยางจะล้ม เขาก็จะดึงเชือกบังคับให้ต้นยางนั้นล้มลงน้ำพอดี พอใกล้จะถึง 5 โมงเช้า ต้นยางต้นนี้  ก็โอนเอน แล้วล้มไปทางริมน้ำ ค้างอยู่บนตลิ่งริมแม่น้ำอย่างนั้นตามที่คนข้างล่างดึงเชือกบังคับไว้

        คนที่คอยดูอยู่กลุ่มใหญ่นั้นตบมือกันใหญ่  ผมเห็น นายจำเนียร คุ้มประวัติ พ่อของ ไอ้เหม่ง ไอ้จุ้ย ช่างภาพประจำหมู่บ้าน เจ้าของร้านถ่ายรูป จำเนียรศิลป์ ซึ่งห้องอยู่ติดกันกับห้องผม ได้ถ่ายรูปไว้หลายรูป เป็นเวลา 51 ปีมาแล้ว และนายจำเนียรก็ได้เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ถ้ารูปนี้ยังมีญาติคนใดของนายจำเนียร คุ้มประวัติ ผู้ที่ถ่ายรูปนี้ ยังเก็บไว้อยู่ ผมอยากจะขอความกรุณาแจ้งให้ผมทราบด้วย ผมจะรีบไปรับเพื่อเอามาลงไว้ในเรื่องนี้ เพื่อเป็นหลักฐาน 

        เมื่อโค่นต้นยางนี้เรียบร้อยแล้ว ทางวัดได้ให้คนงานและชาวบ้าน ช่วยกันตัดกิ่งออกให้หมด เพื่อเตรียมการจัดการล่องลงไปยังโรงเลื่อยที่ ราชบุรี เพื่อจัดการแปรรูป เป็นไม้ต่างๆ เพื่อมาสร้างเป็นศาสนสถานของวัดเจ็ดเสมียนต่อไป เป็นเวลาต่อมาอีกนาน ผมว่าน่าจะเป็นเดือน ต้นยางต้นนี้จึงถูกชาวบ้านงัดเอาลงแม่น้ำเสียงดังตูม นายจำเนียร ก็มาถ่ายรูปเหมือนตอนที่โค่นครั้งแรก แต่ภาพเหล่านั้นเดี๋ยวนี้หายไปไหนหมดแล้วก็ไม่รู้ .............


                                                     
นายจำเนียร คุ้มประวัติ ช่างภาพมือ ๑ ของตลาดเจ็ดเสมียน ยืนอยู่ริมซ้ายสุด ภาพนี้ ผู้ใหญ่และเด็กๆในตลาดเจ็ดเสมียนไปเที่ยวที่หาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี
โปรดติดตาม (คลิ๊ก)  ตลาดนัด 2   เป็นตอนต่อไป

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้345
เมื่อวานนี้460
สัปดาห์นี้2195
เดือนนี้11442
ทั้งหมด1341326

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online