เปลือกหอยกาบ ๑ (มีข่าวดีมาบอก)

   

   ผู้เขียน (นายแก้ว ที่ ๒ จากขวา) พาเพื่อนมาจากกรุงเทพฯมาเที่ยวที่ เจ็ดเสมียน คนขวาสุดคืออโณทัย ไทยสวัสดิ์ (กิโล)     

   ในระหว่างปิดเทอมใหญ่ในปีพ.ศ.๒๕๐๑นั้น โรงเรียนหยุดยาวมาก ชีวิตที่บ้านเจ็ดเสมียนนั้น เด็กๆอย่างพวกผมก็ไม่ได้ทำอะไรกัน  วันๆหนึ่งก็ไปยิงนก ตกปลาไปตีผึ้ง ตามเรื่อง ผมเคยเดินไปกับเพื่อนๆหลายคน จากสถานีรถไฟ เดินไปตามทางรถไฟ ไปทางคลองมะขามซึ่งห่างจากตลาดเจ็ดเสมียนไปทางทิศเหนือ

   เห็นนกที่เกาะอยู่บนสายโทรเลข ต่างคนต่างก็แย่งกันเอาหนังสติ๊กยิง โดยมากมักจะเป็นนกเอี้ยง นกกะเต็นที่ตัวเขียวๆ และนกกระเด้าลม ที่ปีกขาวดำ หัวขาวดำซึ่งชอบมาเกาะที่สายโทรเลข และพวกผมก็วนเวียนอยู่ในเจ็ดเสมียน นั่นเอง 

   ล้วในวันหนึ่งก็มีข่าวใหญ่ที่น่ายินดีมากๆ สำหรับชาวเจ็ดเสมียนและคนทั่วๆไป รวมทั้งพวกเราชาวเด็กเจ็ดเสมียนด้วย ข่าวนี้ก็คือว่ามีบริษัทการค้าแห่งหนึ่ง มีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้มาติดต่อลุงหงวนป้าฮวย พ่อและแม่ของไอ้โห้ (ุรงษ์  แววทอง  เพื่อนของผมเป็นเด็กตลาดเจ็ดเสมียน รุ่นเดียวกัน)   เขาบอกว่าอยากจะให้ป้าฮวยเป็นตัวแทนของบริษัทของเขา หรือเป็นคนกลางในการกว้านซื้อเปลือกหอยกาบ ที่เขากินเนื้อมันแล้วและเอาไปทิ้งไว้ หรือไปกองไว้ที่ไหนก็แล้วแต่ ให้เอาไปขายให้ป้าฮวย และให้ป้าฮวยรับซื้อไว้ให้หมด  (เปลือกหอยกาบนี้ จนถึงปัจจุบันนี้ ผมก็ยังไม่ทราบว่า เขาซื้อไปทำอะไร )

   ให้ซื้อเอาไว้อย่างไม่อั้นมีเท่าไรรับซื้อไว้ให้หมด อย่าให้เหลือแม้แต่กาบเดียว และเมื่อป้าฮวยรวบรวมซื้อไว้ได้มากๆแล้ว ให้ป้าฮวยส่งข่าวไปบอกบริษัทนี้ที่กรุงเทพฯ ทางบริษัทจะรีบส่งรถมารับเปลือกหอยเหล่านี้ไปทันที และจะให้ราคาในการช่วยซื้อไว้นี้ ในราคาอย่างน้อย กก.ละ ๓ บาท    (เงิน๓ บาทในสมัยเมื่อ ๕๐ กว่าปีที่แล้ว ก็ไม่น้อยเหมือนกัน)

    เมื่อเป็นดังนั้นป้าฮวยจึงได้พูดคุยกันกับตัวแทนของบริษัท ที่จะมารับซื้อเปลือกหอยอย่างมั่นเหมาะแล้ว ป้าฮวยก็มาคิดตรองดู อยู่ดีๆก็จะได้กำไรเหนาะๆอย่างน้อย กก.ละ ตั้ง ๒ บาท โดยไม่ต้องออกแรงอะไรเลย เพียงแต่ออกเงินรับซื้อจากชาวบ้านไว้ก่อนเท่านั้นเอง  

    ต่อมาจึงได้ออกป่าวประกาศไปทันทีว่า ใครมีเปลือกหอยกาบอย่าได้เก็บเอาไว้มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก สู้เอามาขายให้ฉันดีกว่าได้เงินใช้ด้วยดีกว่าอยู่เปล่า ๆ เมื่อข่าวกระจายออกไปตั้งแต่วันนั้นมาไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ที่อยู่ที่เจ็ดเสมียนหรืออยู่ใกล้เคียง ที่อยู่เฉยๆไม่ได้ทำอะไร ก็จะขุดคุ้ยกันตามพื้นดิน ที่คิดว่าจะมีการทิ้งเปลือกหอยที่ต้มทำอาหารกินกันแล้ว กลบไว้แถวๆนั้นบ้าง เช่นพื้นดินหลังบ้านที่เคยเป็นที่ทิ้งขยะหรือที่ทิ้งเศษอาหาร 

     บางคนก็ลงทุนขุดต้นกล้วยออกหมดทั้งยวง เพราะจำได้ว่าเมื่อแต่ครั้งโบราณที่ยังเป็นเด็กๆอยู่นั้น  พ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย เคยไปจับหอยกาบที่แม่น้ำมาทำอาหารกินกัน แล้วทิ้งลงไปในหลุมที่ขุดเอาไว้สำหรับทิ้งขยะ แล้วเดี๋ยวนี้ปลูกต้นกล้วยทับเอาไว้ บางคนก้มๆเงยๆมองดูในหลุม ที่ตัวเองขุดแล้วเกิดเวียนหัวหงายหลังผลึ่งลงไปเสียนี่ แหมอุตส่าห์ลงทุนขุดต้นกล้วยออกทั้งแถบ เหนื่อยแทบตายพอขุดลงไปแล้ว ได้เปลือกหอยกาบเพียงสิบกว่าฝาเท่านั้น แล้วก็บ่นพึมพำ 

     " โธ่เอ๋ย ปู่กูย่ากูหนอกินหอยกาบได้ยังไง กินกันแค่สิบกว่าตัวเท่านั้น" พลางก็นึกเสียดายต้นกล้วยที่ขุดขึ้นมาเสียหมดสิ้น

   ที่บ้านลุงเกียป้าแจ่มขายขนมจีนที่อยู่เยื้องๆกับสถานีรถไฟนั่นไง ไอ้มูลลูกป้าแจ่มซึ่งเป็นเพื่อนกับผม มันไปถามป้าแจ่มแม่มันว่า  "เคยเห็นเตี่ยเอาหอยกาบ ที่ไปงมมาได้จากในน้ำที่หน้าท่าใหญ่ เตี่ยผัดเผ็ดกินแล้วเอาเปลือกหอยกาบ ไปทิ้งที่ไหนหมด ? " 

าวาโทประมูล กุลบุปผา (ซ้าย)กับเพื่อนเมื่อสมัยเป็นเด็กอยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียน โอฬาร ลักษิตานนท์

    ้าแจ่มแกก็บอกไอ้มูลว่า " ไม่รู้เหมือนกันว่าเตี่ยมึง (ลุงเกีย) เอาเปลือกหอยไปทิ้งเสียที่ไหน กูไม่ได้คอยดูอยู่นี่หว่า" พูดเสร็จก็เคี้ยวหมากที่อยู่ในปากต่อปากงี้แดงเถือก ดังนั้นบริเวณบ้านของป้าแจ่มจึงรอดพ้น จากการลุยขุดพื้นบริเวณบ้านไปอย่างหวุดหวิด บางคนก็ขุดตามไต้ถุนบ้านและบริเวณบ้านพรุนไปหมด ได้บ้างไม่ได้บ้างมากบ้างน้อยบ้าง ไม่เว้นแม้แต่พื้นดินรอบๆบ้าน และริมรั้วก็ถูกขุดคุ้ย และค้นหาเปลือกหอยกาบกันราบไปหมด

    เด็กตลาดบางพวกก็ไปด้อมๆมองๆแถวๆท่าใหญ่ ซึ่งเป็นปากคลองเจ็ดเสมียน หมายใจว่าตรงแถวท่าใหญ่นี้แหละต้องมีเปลือกหอยกาบกันบ้างแหละ เพราะว่าเคยเห็นพวกรุ่นพี่รุ่นน้าเขาเคยมางมหอยกันที่ท่าใหญ่นี้บ่อยๆ กำนันโกวิทมาเห็นเข้าก็ปรามๆเอาไว้ว่าห้ามมาขุดดินที่ท่าใหญ่เป็นขาด จึงไม่มีเด็กคนใดมากล้าขุดดินที่ท่าใหญ่นี้  

    มีบางพวกถึงกับลงทุนเสี่ยงตายไปงมหอยกาบกันที่  “วังอีหนีบ” ตรงวัดใหม่ชำนาญ (ื่อมันไม่ค่อยไพเราะ มีคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เปลี่ยนชื่อจาก วังอีหนีบ มาเป็น "วังลึก" เสียเลยเรื่องเกี่ยวกับวังอีหนีบนี้ผมเคยเขียนมาหนหนึ่งแล้ว แต่อยู่ในเรื่องอะไรก็จำไม่ได้ จึงขอบอกคร่าวๆ อีกทีก็แล้วกัน (ด้ข้อมูลมาจากไอ้โห้ สุรพงษ์ แววทอง ลูกป้าฮวย

   ที่ได้ชื่อว่า วังอีหนีบ ก็เพราะว่าในสมัยก่อนนั้นน้ำในแม่น้ำแม่กลอง โดยเฉพาะในหน้าน้ำขึ้น น้ำหลากจะพัดพากระแสร์น้ำอันเชี่ยวกรากมาจากทางเหนือคือมาจาก เมืองกาญจน์ ผ่านบ้านโป่งผ่านตลาดโพธาราม แล้วก็ไหลมาถึงท่าน้ำตำบลเจ็ดเสมียน  ซึ่งถึงตอนนี้น้ำกำลังไหลเชี่ยวได้ที่ดีทีเดียว  เมื่อผ่านตลาดเจ็ดเสมียนไปถึงตรงโค้ง วัดใหม่ชำนาญ ตรงเกือบถึงวัดใหม่ชำนาญซึ่งปัจจุบันนี้เขาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ไว้ตรงใกล้ๆนี้แล้ว

 

ะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองที่เจ็ดเสมียน จะสร้างใกล้ๆกับ "วังอีหนีบ" พอดี มองในภาพทางซ้ายนั้นจะเห็นแนวตลิ่งโค้ง ตรงนั้นน้ำจะเข้าไปชนแล้วน้ำจะวนเป็นเกลียวไหลออกไปทางขวา ภาพปัจจุบัน ถ่ายโดย ปฏิพัทธ์

   ลิ่งมันหักข้อศอก น้ำที่หลากเชี่ยวมาจากทางเหนือนั้น มันพุ่งเข้าชนตลิ่งตรงหักข้อศอกนี้โครมพอดี แล้วเบนหัวออกจากตลิ่งตรงนี้พุ่งออกไป จึงเกิดเป็นน้ำวนมองเห็นน้ำหมุนเป็นเกลี่ยวเป็นหลุมลึกลงไป ดูดสิ่งต่างๆที่ผ่านมา ในรัศมีของเกลียวน้ำวนนี้ ลงไปที่ก้นแม่น้ำหมด

      มีคนเก่าๆที่หน้าวัดใหม่นี้เล่าให้ฟังว่า หน้าน้ำหลากที่เชี่ยวมากๆขนาด กอไผ่ ที่ถูกน้ำเซาะมาจากทางเหนือ ลอยมาทั้งกอพอมาถึงวังอีหนีบ  มันดูดลงไปในเบื้องล่างหายจ้อย ถ้าจะโผล่อีกทีก็โน่นท่าขวาง วัดบางกระนั่นเลย ถ้าเป็นคนก็ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ทุกคนจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ตรงนี้ให้ชื่อว่า “วังอีหนีบ” ตั้งแต่นั้นมา

    เพราะว่ามีอะไรลอยผ่านเข้ามาเป็นหนีบดูดลงไปหมด แหม..! ใครนะเป็นผู้ออกหัวคิดตั้งชื่อนี้เป็นคนแรก อยากทราบจังเลย ช่างตั้งได้เหมาะสมดีแท้ๆ เป็นคำสั้นๆแต่สื่อสารได้ดีมากทีเดียว แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ชื่อของวังอีหนีบนั้น อยู่ได้ไม่นาน ก็มีนักพัฒนาออกหัวคิดว่าชื่อนี้มันฟังแล้วหวาดเสียว แต่ผมขอคัดค้านสักหน่อย ฟังแล้วผมว่าดีเป็นชื่อที่ชาวบ้านร้านตลาด ฟังปุ๊บ เข้าใจความหมายปั๊บเลย ไม่เห็นว่ามันจะไม่เพราะหรือฟังแล้วน่าเกลียดตรงไหน  

    แล้วท่านก็ตั้งชื่อเสียใหม่ให้ความหมายใกล้ๆกัน ชื่อใหม่จึงออกมาเป็น “วังลึก “  อื้อ..! ก็พอใช้นะแถวนั้นก็เลยกลายเป็นชุมชน วังลึก ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา คิดไปอีกทีถ้าไม่ได้เปลี่ยนชื่อแล้ว ก็จะเป็นชุมชนวังอีหนีบ ก็ดีเหมือนกันนะครับ แต่ต้องเข้าใจด้วยนะครับ ว่า หมู่ ๑ ของตำบลเจ็ดเสมียนนั้น ไม่ใช่ชุมชนบ้านวังลึก หรือชื่อเดิมว่า วังอีหนีบ ต้องเป็นชื่อว่า ม.๑ บ้านพงสวาย เท่านั้นจึงจะถูกต้องด้วยประการทั้งปวง  เพราะว่าชุมชนบ้าน วังลึก หรือวังอีหนีบนั้น เป็นชุมชนย่อยของบ้านพงสวายเท่านั้น ถูกต้องนะ คร๊าบ......!

  คุยเรื่องคนไปงมหอยกาบกันที่ วังอีหนีบ ไหงออกนอกเรื่องไปเสียตั้งนาน จึงกล่าวได้ว่าคนพวกนั้นเสี่ยงกับความตายเสียจริงๆ ดีนะที่หน้านี้น้ำลงไปบ้างแล้ว “วังอีหนีบ” มันจึงคลายแรงหนีบลงไปมาก ผมจึงขอกลับไปหา ป้าฮวย แม่ไอ้โห้ (คุณสุรพงษ์ แววทอง) พื่อนของผมอีกที

     แต่เดี๋ยวก่อนขออีกหน่อย ได้ข่าวว่าคนที่ลงทุนไปงมหอยกาบ ที่วังอีหนีบนั้นไม่เสียแรงที่ลงทุน วันหนึ่งเขางมได้ตั้งหลายกระสอบ แต่เสียอย่างเดียว ต้องเอาหอยสดเหล่านี้ไปต้มแล้วแกะเนื้อออก แจกชาวบ้าน เพราะกินกันเองไม่หมด แล้วเอาเฉพาะเปลือกไปขายให้แม่กิมฮวย เหตุที่ทำอย่างนี้ก็เพราะว่าแม่กิมฮวย แกไม่ได้รับซื้อหอยกาบสด ซื้อเฉพาะเปลือกมันเท่านั้น

    จะขอกล่าวถึงที่ห้องแถว บ้านป้าฮวยเสียหน่อย ที่บ้านป้าฮวย ซึ่งตอนนั้นอยู่ที่ตลาดนอก เป็นห้องแถวอยู่ตรงกันข้ามกับ สถานที่จำหน่าย หัวไช้โป๊วแม่กิมฮวย เชลล์ชวนชิมในปัจจุบันนี้ ก็ได้เตรียมจัดห้องไว้ห้องใหญ่ๆห้องหนึ่งทีเดียว เพื่อรองรับลูกค้า ที่จะนำเอาเปลือกหอยกาบมาขายให้ เมื่อคนที่นำเอาเปลือกหอยกาบมาถึงแล้ว ป้าฮวยแกก็จะตีราคาให้ทีเดียว

   ถ้าเปลือกหอยกาบใหญ่หน่อย มีรูปร่างสวยไม่มีการชำรุด บิ่น หรือแตกแล้วละก้อ จะตีราคาให้สูงหน่อยคือ กก.ละ ๑ บาท แต่ไม่เกิน ๒ บาท สำหรับเปลือกหอยกาบที่ไม่สวย คือชำรุดแล้ว มีรอยบิ่นและแตกหักไปก็จะคิดราคาต่ำลงไป คือกิโลละ ๕๐ สตางค์ ถึง ๗๕ สตางค์ เท่านั้น ผู้ที่นำมาขายเมื่อได้เท่านี้ก็ดีใจเป็นอันมากแล้ว เพราะเหตุว่า หอยกาบที่เอามาขายนี้ บางเจ้าก็ขุดได้มาจากบริเวณบ้านของตัวเอง บางเจ้าก็รอนแรมไปขุดที่อื่นมา ถ้าสืบทราบได้ว่าที่ตรงไหนที่จะมีคนทิ้งไว้บ้างก็ไปขุดมา เหมือนได้มาเปล่าๆ แต่ต้องออกแรงหน่อยเท่านั้นเอง

     ดังนั้นที่บ้านป้าฮวย ที่ตลาดนอกในห้องแถวที่ทำไว้เพื่อรองรับ เปลือกหอยกาบนี้ ก็เริ่มมีหอยกาบเข้ามาเรื่อยๆแล้ว มีคนเอามาขายทุกวัน มากบ้างน้อยบ้าง ในตอนนั้นผมสังเกตว่า วันหนึ่งๆในตอนที่แกรับซื้อแรกๆนั้นคงไม่น้อยกว่า ๑๕๐ –  ๒๐๐  กก. เป็นแน่ เพราะผมเห็นว่าปริมาณเปลือกหอยในห้องแถวของป้าฮวย ที่ตลาดนอกนั้นเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆเลย

   ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า แล้วพวกผมไม่ไปเที่ยวหา เปลือกหอยกาบ มาขายให้ ป้าฮวย แกบ้างเลยหรือ ทั้งๆที่โรงเรียนก็ปิดอยู่ พวกผมก็พยายามสืบเสาะหาแหล่งอยู่ครับ พวกผมโดยเฉพาะ ไอ้เหม่ง (คะนอง คุ้มประวัติ) ู่หูของผมก็เที่ยวไปหาเปลือกหอยกาบ มาขายให้ป้าฮวยเหมือนกัน  แต่มันมีน้อยครับผมก็จนปัญญาไม่รู้ว่าจะไปขุดมันขึ้นมาจากที่ไหน เพื่อมาขายเอาเงินป้าฮวยไปกินขนมได้

    บางทีผมคุยกับไอ้เหม่ง และเพื่อนๆอีกหลายคนว่า อยากจะลองไปงมแถวๆ วังอีหนีบ เหมือนที่คนตลาดนอกมางมกันบ้าง แต่คิดไปแล้ว เรายังเด็กๆกันอยู่ คงไม่มีกำลังที่จะดำลงไปลึกๆ อย่างนั้นได้ก็เลยลงมติกันว่า งดกันไว้ก่อนดีกว่ามันไม่คุ้ม กับการที่จะเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา และไม่อยากให้หมอละอองมาฉีดยาให้เพราะโรคกลัวฉีดยาเป็นอย่างมาก

ที่ ๒ จากทางขวานั้นคือหมอละออง มีคนที่รู้จักท่านดียืนยันว่าใช่ครับ ท่านแต่งตัวพิเรนๆแบบนี้เล่นเอาผู้เขียนจำไม่ได้เลย ไม่ทราบว่าหมอละอองท่านแต่งตัวแบบนี้เนื่องในเทศกาลอะไร ภาพนี้นานมากทีเดียว ดูแต่ผู้หญิงคนที่ ๔ จากทางขวานั้นคือ คุณเจ๊กวยเมื่อยังสาวไงล่ะครับ เด็กหญิงคนที่ยืนอยู่ข้างหน้าเจ๊กวยนั้น ผมว่าน่าจะเป็นอาจารย์สุธีรา บุตรสาวคนโตของเจ๊กวยแน่เลย...ท่านผู้อ่านว่าใช่หรือเปล่าครับ..!

   ต่แล้ววันหนึ่งหลังจากที่ป้าฮวยแกประกาศรับซื้อเปลือกหอยได้ไม่กี่วัน ในตอนสายๆมีคนถีบจักรยานมาจากวัดท่ามะขาม (เลยหนองบางงูไปไม่ไกลมากนัก) คนหนึ่ง มาที่เจ็ดเสมียน คงจะมาหาญาติของเขาที่ตลาดนี้ซึ่งผมก็เคยเห็นเขาบ้างเหมือนกัน  แกไปนั่งกินโอเลี้ยงที่ร้านเฮียแก่เล็ก ตอนนั้นผมกับไอ้ธร และ ไอ้วีกำลังนั่งเล่น หลิ่วคิ้วกันอยู่ตรงหน้าร้านเฮียแก่เล็กพอดี เกือบจะแพ้ชนะกันอยู่แล้ว

    หลิ่วคิ้วนี้ก็เป็นการพนันชนิดหนึ่ง ที่เด็กๆที่ตลาดเจ็ดเสมียนชอบเล่นกัน มันก็เหมือนกับการเล่นไพ่และการพนันชนิดอื่นๆ พวกผมชอบเล่นกันมากมันสนุกดี และมันเล่นง่ายเอาชนะกันเฉยๆ สำหรับพวกผมไม่มีการกินสตางค์กันเพราะว่าไม่มีสตางค์ติดกระเป๋ากันหรอกครับ บางท่านอาจจะไม่ทราบก็ได้ว่าอะไรคือ หลิ่วคิ้ว แล้วเล่นกันอย่างไร ผมจะบอกให้สักเล็กน้อยก่อนนะครับ อาจจะงงๆ กันบ้าง เพราะว่าผมก็ไม่ได้เห็นมานานหลายสิบปีแล้ว

    หลิ่วคิ้วนี้เป็นการเล่นการพนันของคนจีนครับ สมัยที่ผมเป็นเด็กที่เจ็ดเสมียนนั้นนิยมเล่นกันมาก ลักษณะของมันทำมาจากไม้กลึงให้กลมๆ เป็นเหมือนเหรียญ ๒ บาทสมัยนี้ แต่หนากว่ามาก มีตัวอักษรภาษาจีนแกะสลักลงไปในแป้นไม้นั้น จากตัวที่เป็นใหญ่ที่สุดคือกินตัวอื่นๆได้ทุกตัว ซึ่งผมจะลองเรียงลำดับดู อาจผิดพลาดไปบ้างก็ขออภัยด้วย เพราะว่าเล่นกันมานานแล้วประมาณกว่า ๕๐ ปี คือ อั้งตี่  โอวตี่  อั้งสือ โอวสือ  อั้งกือ   โอวกือ  อั้งเฉีย โอวเฉีย อั้งเผ่า โอวเผ่า อั้งเบ้ โอวเบ้ อั้งจุ๊ด โอวจุ๊ด อั่งเลี๊ยบ โอวเลี๊ยบ 

   ตัวสุดท้ายนี้มีศักดิ์ศรีที่เล็กที่สุดกินใครไม่ได้เลย ที่เรียงมานี้ก็จากใหญ่ไปหาเล็กนะครับ วิธีการเล่นนี้ก็คือแจกเม็ดหลิ่วคิ้วนี้ให้เท่าๆกันทุกคน โดยคว่ำหน้าอย่าให้เห็นแล้วแต่ละคนที่เล่น ค่อยๆเอาออกมาแล้วหงายขึ้น ใครมีตัวใหญ่สุดก็กินไปจนกว่าจะหมด ใครได้กินมากสุดท้ายก็จะชนะไป อธิบายไม่ละเอียดคงงงๆกันบ้างนะครับ แต่อย่าไปสนใจอะไรมากเลยมาดูเรื่องของเราต่อดีกว่าครับ

     มาเข้าเรื่องกันต่อครับ ลุงคนที่มาจากท่ามะขามนั้น ผมไม่รู้จักชื่อได้ยินเฮียแก่เล็กเรียกแกว่าลุงชู แกเห็นผมและเพื่อนๆเล่น หลิ่วคิ้วกันเพลินๆ จึงเดินมาแล้วเอ่ยปากบอกว่า

  "ทำไมไม่ไปหาเปลือกหอยกาบ มาขายให้กับยายฮวยกับเขาบ้างล่ะ"   ผมก็บอกว่า "เคยเที่ยวไปหาขุดตามที่เขาทิ้งขยะเหมือนกันแต่ไม่ค่อยมีไปขุดอีกหลายๆที่ก็ไม่มีเลย และไม่ค่อยรู้แหล่งด้วยจึงขี้เกียจไปหาแล้วหมดปัญญา

     ลุงชูคนที่มาจากท่ามะขามจึงบอกว่า "เมื่อตอนเช้าก่อนที่จะมาที่นี่นั้น เห็นคนที่ท่ามะขามเขาเริ่มมาขุดหาเปลือกหอยกาบกันแล้วแต่ยังไม่มากนัก ที่ซอยทางเข้าวัดท่ามะขามก่อนถึงวัดสักหน่อยหนึ่งทางด้านซ้ายมือ ตรงที่เป็นเหมือนร่องน้ำมีต้นไม้และกอไผ่ปกคลุม ครึ้มไปหมดนั้นแหละ"

    ผมกับเพื่อนๆนังฟังแกบอกนั่งกับเงียบทำตาปริบๆ และคิดว่านี่คือข่าวดีที่ลุงชูแกมาบอก ลุงชูแกพูดอีกว่า  "เขาลือกันว่าเมื่อสมัยก่อนเป็นหลายล้านปี ที่ล่วงมาแล้ว ในบริเวณนั้น หรือจะเป็นท่ามะขามทั้งหมดก็ได้ เคยเป็นที่ๆน้ำท่วมมาก่อน  แล้วกาลเวลาล่วงเลยมานาน น้ำที่ท่วมนั้นก็แห้ง ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ภายไต้พื้นดินบริเวณนี้จะเป็นที่สะสมของเปลือกหอยนานาชนิด รวมทั้งหอยกาบด้วย" ลุงชูหยุดพูดนิดหนึ่งแล้วพูดต่อ  "จนเดี๋ยวนี้ลุงคิดว่า ตรงบ่อนั้นคงมีเปลือกหอยกาบและหอยอื่นๆมากมายแน่นอน อยู่ว่างๆไม่ลองไปขุดหาดูหรือ"

   ผมฟังแล้วก็เลยถามลุงชูไปว่า "แล้วลุงไม่ลองไปขุดดูบ้างหรือ"  ลุงชูแกตอบว่า "พอดีเช้านี้ต้องมาธุระที่ตลาดนี้ก่อน บ่ายๆนี้แหละจะลองไปขุดดู" แกว่า อย่างนี้ก็ได้เรื่องแล้วซีพวกผมมันอยู่นิ่งได้เสียเมื่อไร แม่ไอ้เหม่งยังเคยว่าพวกผมว่า  “พวกมึงทำไมไม่หยุดนิ่งๆกันบ้าง เวียนหัวจะตายอยู่แล้ว”  

    เมื่อพวกผมได้ข่าวเช่นนี้ หัวสมองก็นึกแว๊บขึ้นมาทันที นึกไปที่ซอยวัดท่ามะขาม นึกไปตรงสถานที่ๆลุงชูแกมาบอก ผมรีบถามไอ้ธรว่า  "จะไปดูกันไหม ถีบจักรยานไปกันคนละคัน สามคนเราไอ้วีด้วย" 

   แต่ทั้งคู่นี้มันไม่อยากไปเพราะว่ามันไม่แน่ใจว่า จะจริงตามที่ลุงชูคนท่ามะขามมาบอกหรือเปล่า  ท่ามะขามมันก็ไม่ใช่ใกล้ๆ  ออกไปทางหนองบางงู แล้วยังต้องเข้าซอยไปอีก เป็นระยะทางเกือบ ๔ กิโลเมตร

     ที่จริงแล้วท่ามะขามนี้พวกผมก็เคย ไปเที่ยวยิงนกและไปตีผึ้งกับเฮียเต้ว พร้อมด้วยเพื่อนๆอีกหลายคนบ่อยๆ นอกจากนั้นผมและพรรคพวกเช่นไอ้เหม่ง ไอ้จุ้ยน้องของไอ้เหม่ง ไอ้โห้ ไอ้แอดก็เคยตาม ลุงหงวน เตี่ยไอ้โห้ ไปทอดแหแถวๆท่ามะขามหลายครั้งแล้ว (ลงหงวนเตี่ยไอ้โห้เดิมแกเป็นคนท่ามะขาม) 

     เมื่อได้ปลามากแล้วขากลับบ้านในตอนเย็นๆ ลุงหงวนแกก็จะแบ่งปลาที่จับได้ให้กลับไปบ้าน คนละตัวสองตัวด้วย เป็นรางวัลที่ได้ช่วยกันงมปลา จากการทอดแหแบบจมลงไปแล้วกระโดดลงไปงม ของลุงหงวนเตี่ยไอ้โห้  
    แต่เที่ยวนี้ไอ้ธร (สาธร วงษ์วานิช) กับไอ้วี (ทวี แซ่ชื้อ) มันไม่อยากไปเฉยๆอย่างนั้นแหละ มันคงอยากเล่นหลิ่วคิ้วของมันต่อแน่ๆเลย เมื่อเพื่อนทั้งสองไม่ไป ผมก็เลยเล่นหลิ่วคิ้วกับพวกมันอีก สองสามตา ก็เลิกเล่น

   ผมบอกมันว่า "จะลองถีบจักรยาน ไปซอยวัดท่ามะขามไปดูตรงสถานที่ๆลุงคนนั้นเขาบอก มันจะจริงอย่างที่เขาว่าหรือไม่" ไอ้ธรบอกว่า "เออก็ดีเหมือนกัน แล้วเป็นอย่างไรกลับมาบอกกูด้วยล่ะ"

   และเมื่อไอ้สองคนนี้มันไม่ไปแล้ว ผมก็คิดหาเพื่อนที่จะไปด้วยอีกสักคนหนึ่ง จะได้ไปเป็นเพื่อนกัน  ผมจึงคิดถึงไอ้เหม่ง (คนอง คุ้มประวัติ) เพราะว่าที่ผ่านๆมาไอ้เหม่งมันก็ไปไหนต่อไหนผจญภัยกับผมเยอะแยะ แล้วมันก็เป็นคู่หูกับผมมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ครอบครัวมันย้ายมาจากบ้านเดิมที่บางโตนดโน่น

    หมู่นี้มันไม่ค่อยได้ออกไปไหนกับผมบ่อยๆ เพราะว่าแม่มันดุเอาเรื่อยๆ แม่ก็เป็นห่วงลูกอย่างนี้แหละ เป็นของธรรมดาแม่ผมก็เหมือนกันดุด่าว่ากล่าวอยู่บ่อยๆ  แต่ผมคิดว่าเรื่องชวนกันไปหารายได้ ด้วยตัวเองอย่างนี้คงไม่เป็นไร เพราะว่าถ้าโชคดีก็อาจจะขุดเปลือกหอยกาบได้ แล้วเอาไปขายให้กับป้าฮวย จะได้เงินมากินขนมกันบ้าง แม่ไอ้เหม่งคงจะเห็นดีด้วยแน่ๆ นี่ผมคิดเข้าข้างตัวเองแท้ๆทีเดียว

     คิดได้ดังนั้นแล้วผมก็เดินข้ามฟากจาก ร้านกาแฟเฮียแก่เล็ก ตรงไปที่บ้านไอ้เหม่งซึ่งเป็นร้านถ่ายรูปทันที เพื่อไปชวนไอ้เหม่งที่บ้านมัน ซึ่งบ้านของมันก็คือห้องแถวที่ติดกันกับห้องของผมนั่นแหละครับ

     ตอนนั้นใกล้เที่ยงเต็มทีแล้ว ผมเห็นไอ้เหม่งกับไอ้จุ้ย (ภายหลังรับราชการทหาร คือ พ.อ.คนึง คุ้มประวัติ) ้องของมันกำลังกินข้าวกันอยู่คนละจาน ป้าม่อมแม่ของมันทอดปลาทูให้มันเสียเกรียมน่ากิน สองคนมันตักข้าวเข้าปากกันอย่างเอร็ดอร่อย

     จานในที่นี้ไม่ใช่จานกระเบื้องที่หล่นแล้วแตกได้หรอกนะครับ แต่เป็นจานสังกะสีเคลือบที่หล่นแล้วไม่แตก เพียงแต่สีที่เคลือบกะเทาะบิ่นไปเท่านั้น ช้อนก็เหมือนกันยังไม่มีช้อนสแตนเลสเหมือนในสมัยนี้หรอก มีแต่ช้อนเคลือบเป็นสีๆ มีช้อนอย่างดีก็เป็นช้อนอลูมิเนียมบางๆเท่านั้นเอง

    ในสมัยก่อนๆนั้นเมื่อผมยังอยู่ที่เจ็ดเสมียน ผมสังเกตเห็นเด็กตลาดเจ็ดเสมียนแทบทุกคนในรุ่นผม นิยมให้แม่หรือคนเลี้ยงขยำข้าวให้กิน ถ้าไม่ใช่ไข่เป็ดไข่ไก่ต้ม ก็ปลาทูทอดกลิ่นหอมฉุย    (ปลาทูนึ่งร้านป้ายุ้ยขายที่หน้าบ้านกำนันไต้ต้นก้ามปูมีร้านเดียว) คิดแล้วน้ำลายพาลไหลยืดออกมาที่มุมปากเชียว..!

    อาจจะมีน้ำแกงจืดผักตำลึงหมูสับผสมลงไปด้วยนิดหน่อย แล้วใส่น้ำปลาที่คนเจ็ดเสมียนส่วนใหญ่จะทำไว้กินเอง จากปลาสร้อยแท้ๆที่จับได้ในหน้าน้ำขึ้น คลุกเคล้าลงไปอีกนิดหน่อย เพื่อให้มีรสชาติดียิ่งขึ้น 

    เด็กตลาดเจ็ดเสมียนในสมัยนั้นเหล่านี้ เมื่อแม่ส่งชามข้าวให้แล้ว แล้วก็ไม่ได้กินที่บ้านหรือหน้าบ้านหรอกนะ รับชามข้าวแล้วก็เดินร่อน ไปกินกับเพื่อนที่บ้านโน้นบ้างบ้านนี้บ้าง ถ้าเป็นมื้อเย็นละก้อบางที ก็เดินถือจานข้าวนี้เดินตามพรรคพวกไปเป็นพรวน โน่น ไปกินกันที่สนามหญ้าหน้าโรงเรียนโน่นเลย ผมก็ยังเคยไปกินที่สนามหน้าโรงเรียนบ่อยๆตรงฐานเสาธงของโรงเรียนเป็นหลัก

    มีเด็กรุ่นหลังผมคนหนึ่ง ผมไม่ขอเอ่ยชื่อเพราะว่าเวลานี้เขาก็ยังอยู่ ทำงานเป็นใหญ่เป็นโตรำรวยเงินทองเสียด้วย ก็ถือชามข้าวเดินร่อนไปกินที่สนามหญ้า หน้าโรงเรียนเหมือนกัน ในวันนั้นพวกผมแบ่งพวกเตะบอลกันอยู่ เห็นเด็กคนนี้วางชาม แล้วตัวเองก็นั่งกินข้าวอยู่ตรงเสาธงใหญ่

    จนกระทั่งเกือบชั่วโมงผ่านไป พวกผมเลิกเตะฟุตบอลกันแล้ว เพราะเหนื่อยและก็ใกล้ค่ำแล้ว จึงพากันเดินมานั่งพักกันตรงเสาธง เห็นเด็กคนนั้นนั่งเฝ้าชามข้าวอยู่ที่เดิม ข้าวก็ยังเต็มชามอยู่อย่างนั้น ด้วยความสงสัยผมจึงเข้าไปดูใกล้ๆ  ปั๊ดโธ่เอ๋ย..! ข้าวยังไม่พร่องไปเลย ตั้งแต่มันมาที่สนามหญ้านี้ มันเพิ่งเอาข้าวเข้าปากได้เพียงช้อนเดียวแท้ๆ แล้วมันก็อมข้าวช้อนนี้เอาไว้ในปากมัน จนข้าวจืดหมดแล้ว จืดแล้วก็จืดอีก ดูดอยู่นั่นแหละ ชืดไปหมดแล้วมันก็ยังอมข้าวคำนั้นต่อไปอยู่นั่นเอง เฮ้อ เวร....!

    เมื่อพูดถึงเรื่องนี้แล้วผมยังจำได้ว่า แม่ผมขยำข้าวกับปลาทูให้แล้ว ผมก็เดินถือชามข้าวไปที่บ้านป้าเอ็ง ซึ่งเป็นร้านขายยา ห้องแถวอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านผม และติดกับร้านกาแฟต้นตระกูลกาแฟโบราณ ของเฮียแก่เล็กแป๊ะอู๋

 

ุณรังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์  (สิทธิ์) นั่งกลางข้างหน้า

    ไปกินข้าวกับไอ้อู๊ดและนายสิทธิ์  (รังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์)  สองคนนี้เป็นพี่น้องกัน เป็นลูกของป้าเอ็งและลุงเบี้ยว ในชามข้าวของทั้งสองนั้น ป้าเอ็งขยำข้าวกับไข่ต้มให้กินทั้งคู่ แล้วผมก็กินหมดในเวลาอันสมควร ไม่ได้อมข้าวเลยนะครับ

    ผมเดินเข้าไปหาไอ้เหม่งแล้วคุยให้มันฟังดังที่ผมได้ยินมา แล้วชวนมันถีบจักรยานไปดูลู่ทางไว้ก่อน ว่าจะมีเปลือกหอยกาบตามที่ ลุงชูคนท่ามะขามบอกหรือไม่ ไอ้เหม่งบอกว่า  "รอเดี๋ยวกินข้าวให้เสร็จก่อน แล้วจะไปบอกแม่ถ้าแม่ให้ไปก็จะไปกันเลย" ผมบอกว่า "เที่ยวแรกนี้คงไม่ต้องเตรียมอะไรไปกันหรอก เราจะไปดูลาดเลากันเฉยๆก่อน" ไอ้เหม่งพยักหน้ารับรู้ แล้วผมก็เดินเข้าบ้านเพื่อไปกินข้าวเหมือนกัน

    เที่ยงวันกว่าๆแล้ว ไอ้เหม่งมารอผมอยู่ที่หน้าบ้าน พร้อมกับจูงจักรยานมาด้วย ผมนั่งอยู่ในบ้านมองเห็นไอ้เหม่งจูงจักรยานมา ผมคิดว่าแม่มันคงอนุญาตให้มันไปได้ ผมจึงเอาของที่เตรียมไว้ มีกระสอบป่านขนาดใหญ่ที่เขาใส่ข้าวสารที่โรงสี ๒ใบ เสียมสำหรับขุดคุ้ยดินเล็กๆสั้นๆ ๒ อันเอาติดไปด้วย เผื่อจะลองไปเขี่ยๆดูตรงที่ลุงชูแกบอกสถานที่ไว้แล้ว และคิดว่าต้องไปถูกที่แน่นอน

     ผมกับไอ้เหม่งถีบจักรยานกันคนละคัน มุ่งหน้าออกไปจากตลาดเจ็ดเสมียน ข้ามทางรถไฟผ่านตลาดใหม่ (ตลาดนอก) เห็นที่บ้านป้าฮวยก็ยังมีการซื้อเปลือกหอยกาบกันอยู่เรื่อยๆ

   คนขวาคะนอง คุ้มประวัติ (เหม่ง) คนซ้ายที่ถือหนังสติ๊กนั้น ศักดา วงศ์ยะรา 

   ังเกตได้จากที่หน้าห้องแถวของ ป้าฮวยมีคนมุงดูตาชั่งขนาดใหญ่ที่กำลังชั่งเปลือกหอยกาบอยู่  ผมกับไอ้เหม่งไม่ได้แวะที่ห้องแถวป้าฮวยหรอกครับ ถีบจักรยานคุยกันไปเรื่อยๆ ไม่ถึง ๒๐ นาทีก็ถึงหัวหนอง (หนองบางงู) ซึ่งเป็นทางแยกจากถนนเพชรเกษม (ถนนรถยนต์ที่วิ่งลงไปทางไต้) แล้วอีกสักครู่ก็เลี้ยวรถ เข้าซอยวัดท่ามะขาม

    ถนนทางเข้าวัดท่ามะขามนั้น เป็นถนนเล็กๆสองข้างทางไม่ค่อยมีบ้านเรือนเท่าไรนัก มีแต่ต้นกอไผ่ป่าที่ผึ้งชอบมาเกาะทำรัง (ผมเคยมาตีผึ้ง ที่ซอยวัดท่ามะขามหลายครั้ง กับ เฮียเต้ว และเพื่อนๆ หลายหนแล้ว) ที่มีบ้านมากเป็นชุมชนนั้นก็จะไปกระจุกอยู่ ที่แถวๆใกล้ๆวัดแหละมาก

    ผมกับไอ้เหม่งคู่หูถีบจักรยานเข้าไป เกือบถึงวัดอยู่แล้ว มองไปทางด้านซ้ายมือตรงนั้นมีต้นกอไผ่ป่า ขึ้นข้างทางมืดครึ้ม มองเห็นคนสัก ๔ – ๕ คนเห็นจะได้ กำลังเอาจอบและเสียมขนาดใหญ่ ขุดลงไปในดินบริเวณนั้นแล้วคุ้ยขึ้นมา  

   "คงเป็นตรงนี้แหละมั้ง" ผมบอกกับไอ้เหม่ง "แวะดูกันเลยดีกว่า" ไอ้เหม่งมันบอกผม ผมพยักหน้าตกลง แล้วเราสองคนก็หยุดรถจูงจักรยานเข้าไปไต้ร่มเงาของกอไผ่ป่านั้น ผมตะโกนถามคนพวกนั้นว่า "ขุดหาอะไรกันหรือ ?" คนผู้ชายที่ใส่งอบใบใหญ่นั้น เงยหน้าขึ้นมามองผมแล้วว่า

   "กำลังขุดหาเปลือกหอยกาบน่ะ ขุดมาหลายหลุมแล้วยังไม่เจอ ข่าวนี้คงโกหกเป็นแน่ "

    แล้วแกก็ถามผมว่า "ไอ้หนูมาจากไหนกันล่ะ " ผมก็ว่า "มาจากเจ็ดเสมียนอยากจะมาหาขุดเปลือกหอยแถวๆนี้เหมือนกัน ได้ข่าวว่าแถวที่ตรงนี้แหละเมื่อสมัยก่อนนั้นมีคนมาทิ้งเปลือกหอยไว้แถวนี้ " (ผมแกล้งบอก ไม่ให้ตรงกับความจริง) 

    ชายคนนั้นก็บอกว่า " ก็ลองดูซี ถ้าโชคดีก็อาจจะเจอก่อนพวกฉันก็ได้ หรือบางทีก็อาจจะไม่เจอเลย เพราะคนบอกนั้นอาจจะโกหกกันเล่นๆ สนุกๆ เท่านั้น"  แล้วแกก็หัวเราะร่วน ผมหันมาถามไอ้เหม่งว่า "ไหนๆมาแล้วเราจะลองๆคุ้ยดินกันสักหน่อยก่อนเอาไหม"  ไอ้เหม่งว่า "เอาก็เอาไหนๆมากันถึงนี่แล้ว คงจะดีกว่าไม่ได้ลองเลย"

    ดังนั้นผมกับไอ้เหม่งก็คว้าเอาเสียมแทงดินเล็กๆ ๒ อันที่เตรียมมานั้น ขุดคุ้ยดินตรงที่ไม่ห่างจาก คน ๔ – ๕ คนที่ขุดคุ้ยกันอยู่ก่อนแล้ว เวลาผ่านไปเรื่อยๆ ผมกับไอ้เหม่งก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะพบเข้ากับ ขุมทรัพย์มหาศาลเลย

    ผมคิดในใจว่าเปลือกหอยกาบนี้ถ้ามันมีจริงๆตรงนี้  วันเวลามันผ่านพ้นมานานมากแล้ว มันก็น่าจะอยู่ลึกลงไปมากกว่านี้สักหน่อย  พวกที่มาขุดก่อนเรานี้ผมสังเกตดูก็ขุดลงไปไม่ลึกสักเท่าไร  ผมว่าอย่างน้อยก็ต้องลึกเป็นเมตร หรือเมตรครึ่งถึงสองเมตร หรืออาจจะกว่านั้นอีก

    ถ้าเปลือกหอยมีจริงต้องลึกขนาดนั้นแน่ๆ ผมจึงกระซิบบอกไอ้เหม่งเบาๆตามที่ผมคิดได้แล้วบอกไอ้เหม่งว่า "วันนี้เราเอาแค่นี้ก่อนดีกว่ากลับไปบ้านก่อน พรุ่งนี้แต่เช้ามืดเลยเรามากันอีกครั้งหนึ่ง เตรียมจอบมาด้วยแล้วพยายามขุดให้ลึกๆ ต้องเจอแน่นอน" ไอ้เหม่งพยักหน้ารับรู้แล้วบอกว่า "ผมก็ว่าอย่างนั้นแหละพี่"

    แล้วผมก็บอกคนกลุ่มนั้นที่มาขุดหาเปลือกหอยก่อนหน้าผมว่า "ผมไม่เอาแล้ว กลับบ้านก่อนละ เพราะว่าท่าทางคนที่บอกนั้นจะโกหกเล่น" คนกลุ่มนั้นก็ว่า "ฉันก็ไม่เอาเหมือนกัน ขุดไปหลายหลุมก็ไม่เห็นมีเปลือกหอยเลย มีแต่เศษอะไรก็ไม่รู้ มีแต่กระดูกวัวควายเก่าๆ โผล่มาหลายท่อนด้วยกัน และเศษไม้ ซากไม้เกลื่อนไปหมด เนี่ยพวกเราก็จะไปหาที่อื่นต่อเหมือนกัน"

   ผมกับไอ้เหม่งเก็บเสียมผูกไว้ที่ตระแกรงท้ายรถจักรยานของผม แล้วขึ้นรถถีบออกไปจากซอยวัดท่ามะขามนั้นตรงกลับไปบ้านเลยทีเดียว ไม่นานนักก็ถึงบ้าน ในระหว่างทางที่ถีบรถกลับนั้น ก็คุยกับไอ้เหม่งถึงการวางแผนการขุดในวันพรุ่งนี้ตลอดทาง

    ตกเย็นวันนั้นผมไปเล่าให้ไอ้ธร และเพื่อนคนอื่นๆฟังที่สนามหญ้าหน้าโรงเรียน ถึงเหตุการณ์ที่ผมได้ไปดูมาที่ซอยวัดท่ามะขาม และบอกไอ้ธรว่า "ถ้าคนที่มาบอกให้เราฟังเมื่อเช้าวันนี้นั้น ไม่ได้โกหกเรามันจะต้องมีเปลือกหอยกาบอย่างแน่นอน แต่ต้องขุดลึกลงไปสักหน่อย เพราะว่า แต่ก่อนนั้นมันเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมมาก่อน  มันก็ต้องลึกบ้างเป็นธรรมดา" ไอ้ธรและคนอื่นๆที่นั่งคุยอยู่ด้วยกันนั้นก็พยักหน้าเห็นด้วย 

     แล้วผมก็เลยชวนพวกเราทุกคนว่า "ถ้าใครสนใจในตอนเช้าวันพรุ่งนี้เตรียมตัวไปกันเลย เตรียมเครื่องมือในการขุดไปด้วย ถ้าใครไปพร้อมกันไม่ทันก็ถีบรถจักรยานตามไปทีหลังก็ได้" ผมบอกสถานที่ให้เสร็จ เพื่อนเด็กตลาดบางคนก็ตกลงตามนั้น..........

                                               โปรดติดตามตอนต่อไป   "เปลือกหอยกาบ ๒ (อุบัติเหตุ)"   ในเร็วๆนี้ ที่นี่ที่เดียว

                                                                                                       รับประกันความฮา

ียนโดย นายแก้ว ปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมภาพ เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้214
เมื่อวานนี้194
สัปดาห์นี้408
เดือนนี้1557
ทั้งหมด1345147

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

3
Online