สงกรานต์บ้านเราในอดีต ๗ (เวทย์มนต์จากต่างแดน)

สงกรานต์บ้านเราในอดีต ๗

เวทย์มนต์จากต่างแดน


          “ตำหนักนี้เป็นที่สิงสถิตย์ของท่านเจ้าพ่อ “หมื่นราม” ชื่อเต็มๆของท่านคือ ท่านหมื่นรามราฆพ และลุงนี่แหละเป็นร่างทรงของท่าน เวลาชาวบ้านที่มีเรื่องเดือดร้อนมาหาขอความช่วยเหลือจากเจ้าพ่อหมื่นรามฯ ลุงก็จะเป็นร่างทรงให้ท่านลงมาเข้าร่างของลุง เพื่อบำบัดทุกข์ให้เขาเหล่านั้น ” ลุงสมเอ่ยขึ้นในขณะที่ผม และวาสนากำลังมองสำรวจสิ่งต่างๆ ที่ประดับประดาบนตำหนักนี้ พูดพลางชี้ให้ผมดูภาพภาพหนึ่ง ซึ่งแขวนติดไว้ข้างผนัง หลังที่บูชาต่างๆ  ผมกับวาสนามองตามมือลุงสมไป

 

         ภาพนั้นเป็นภาพที่เก่าแก่มากแล้ว กระดาษก็เหลืองจวนจะผุมีรอยเปียกของน้ำและรอยแมลงตัวเล็กๆชอนไช จนเป็นทางขาวๆที่รูปนั้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังมองเห็นภาพนั้นได้ค่อนข้างชัด ขนาดของภาพถ้าเป็นสมัยนี้ ก็จะเท่าหรือใหญ่กว่ากระดาษ เอ – ๔ นิดหน่อย เป็นภาพตั้งแต่น่าอกขึ้นมา มองตรงออกมา สายตาดุแข็งกร้าวดูน่ากลัว  มองดูก็รู้ว่าเป็นภาพที่วาดขึ้นมา ไม่ใช่ภาพถ่ายแต่ผู้ที่วาดเขียนขึ้นมานั้นก็ช่างวาดได้เหมือนภาพถ่ายจริงๆ แต่กรอบไม้เป็นของใหม่คิดว่าคงจะมาใส่ในภายหลังเป็นแน่
         “ท่านผู้นี้นะหรือคือ เจ้าพ่อหมื่นรามฯ ” ผมถามลุงสมในใจนั้นก็นึกสนุกกับเรื่องของลุงสมต่างๆเหล่านี้แล้ว ผมเห็นวาสนาก็ตั้งใจฟังเหมือนกัน บางอย่างเมื่อสงสัยอะไรวาสนาก็ไม่ได้เอ่ยปากไต่ถาม คงนั่งเฉยทำคิ้วขมวดเหมือนกับจะสงสัยและอยากจะถามแต่ไม่ถามแล้วก็ฟังผมคุยกับลุงสมต่อไป
         “ ท่านผู้นี้แหละคือคนในภาพที่ช่างเขียนคนนั้น เขียนจากตัวท่านจริงๆ ท่านอยู่ในสมัยกู้กรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองนี่ก็กว่าสองร้อยปีขึ้นไปแล้ว ”
      

         ลุงสมหยุดพูด พร้อมกับเทน้ำชาจากกากระเบื้องเคลือบลงสู่ถ้วยน้ำชาเคลือบเล็กๆ ควันกรุ่น
“ ก็แปลว่า ท่านหมื่นรามผู้นี้ก็เป็นทหาร อยู่ในกองทหารกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนะซี  ”

ลุงสมยิ้มให้ผมแล้วบอกให้จิบน้ำชากันเสียก่อนมันกำลังร้อนๆพอดีแล้วพูดว่า
         ” ตามประวัติเท่าที่รู้มาจากอาจารย์ของลุงผู้ที่ให้รูปนี้มา ก็เป็นอย่างหลานพูดนั่นแหละ”

        แล้วลุงสมก็เริ่มเล่าเรื่องที่ได้ภาพนี้มาอย่างคร่าวๆ ผมกับวาสนาก็นั่งฟังแกพูดด้วยความอยากรู้อยากเห็น และสนุกคล้อยตามแกไปด้วย

        เรื่องของลุงสมอย่างย่อๆที่ออกจากปากของแกมีดังนี้ 
   

           เมื่อครั้งสมัยที่ลุงสมยังเป็นหนุ่มและบวชอยู่ที่วัดบางลานนี้ได้สัก ๓ – ๔ พรรษาแล้ว มีเพื่อนพระด้วยกันอีก ๒ องค์อายุรุ่นราวคราวเดียวกันมีจิตใจตรงกัน คืออยากออกธุดงค์ไปในถิ่นกันดารไกลๆ เพื่อดำรงชีวิตอยู่ในป่าเหมือนเป็นพระป่า และเพื่อแสวงหาวิชาอาคมที่มีความขลังจริงๆ 
         

        พระทั้งสามองค์นี้จึงได้ตกลงใจกันว่าจะธุดงค์ออกป่าเขาลำเนาไพร ฟันฝ่าข้ามเขาสูง ข้ามบึงน้ำลำธาร และอุปสรรคในป่าเขา ตลอดจนสัตว์ร้ายต่างๆที่ต้องผจญทางด้านชายแดนไทย - พม่า และจะเข้าไปในป่าลึกของฝั่งพม่าให้ได้หมายมั่นว่าจะไปเรียนวิชาอาคมต่างๆของทางมอญและพม่าด้วย กำหนดเอาวันที่ ออกพรรษาแล้วเป็นวันออกเดินทาง

       เมื่อถึงวันออกพรรษาผ่านพ้นไปแล้ว พระทั้งสามองค์นี้ก็ไปลาอาจารย์เจ้าอาวาสบอกถึงความประสงค์ เจ้าอาวาสท่านก็ยินดีในการออกธุดงค์ในครั้งนี้ แล้วก็ให้ศีลให้พรให้ประสบกับความสำเร็จในครั้งนี้ด้วย 
         

        เมื่อถึงวันที่จะเดินทางกันจริงๆ พระองค์หนึ่งเกิดมีความจำเป็นที่จะไม่ได้ไป คือ เมื่อโยมบิดามารดาของท่านทราบเรื่องเข้า ก็พากันห้ามปรามด้วยความเป็นห่วง ทีแรกพระองค์นั้นก็จะดื้อดึงจะไปให้ได้ แต่เมื่อได้รับคำอ้อนวอนและขอร้องจากโยมทั้งสองแล้ว จึงไม่สามารถจะดื้อดึงและดันทุรังไปได้ ผลสุดท้ายจึงได้ออกเดินทางกันเพียงสององค์เท่านั้น
        

        เมื่อได้ฤกษ์ออกเดินทางพระทั้งสองรูปนั้น พร้อมด้วย  เครื่องอัฐบริขารที่จำเป็นของพระที่จะต้องเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาถิ่นกันดาร ซึ่งตามพระวินัยกล่าวไว้ที่สำคัญ คือ บาตรเหล็กที่ระบมด้วยไฟ เพื่อป้องกันสนิม  สบงหรือผ้านุ่ง จีวรหรือผ้าห่ม และสังฆาฏิ เป็นบริขารที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุ ผ้าเหล่านี้จะย้อมด้วยน้ำฝาดของลูกมะเกลือที่เป็นสีออกดำๆเพื่อไม่ให้เลอะได้ง่าย
         

        บริขารอื่นนอกจากบริขารเหล่านั้นแล้ว ก็มีกลด (ร่มขนาดใหญ่) พร้อมมุ้งกลด ซึ่งเมื่อยามฝนตกก็สามารถใช้แทนร่มในเวลาออกบิณฑบาต นอกจากนี้ก็มีผ้าอาบน้ำฝนใช้นุ่งอาบน้ำ ผ้าปูที่นอน ผ้านิสีทนะสำหรับใช้ปูนั่ง ผ้าอังสะ ผ้าเช็ดหน้าเช็ดปาก ย่ามสำหรับใส่ของ เมื่อถึงเวลาออกเดินธุดงค์ตามป่า ตามเขา ตามถ้ำ ยังต้องติดยาแก้ไข้แก้หวัดปวดหัวตัวร้อน และแก้ปวดท้องท้องเสียด้วย เพราะเมื่ออยู่ในป่าซึ่งเป็นสถานที่อยู่ไกลเช่นนี้ ยาเหล่านี้ก็จะมีความจำเป็นยิ่งนัก
          พระสมและพระอีกองค์หนึ่งที่ไปด้วยกันนั้นได้ออกเดินทางด้วยเท้ารอนแรมธุดงค์ไปเป็นเวลานาน แห่งไหนที่เป็นหมู่บ้านมีชาวบ้านศรัทธาและนิมนต์ให้ปักกลดอยู่นานหน่อย และเมื่ออยู่ได้สองสามวันแล้วก็เดินทางต่อไป จนเข้าเขตพม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์ 
        

         เมื่อข้ามเขตพม่าเข้าไปแล้ว มีวัดของพระพม่าอยู่วัดหนึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านชายแดนนั้นที่วัดนี้มีพระลูกวัดซึ่งเป็นคนไทยบ้างพม่าและกะเหรี่ยงบ้าง พูดภาษาพม่าบ้างไทยบ้างผสมปนเปกันไปเพราะว่าเป็นชายแดนและชาวบ้านทั้งสองฝั่งก็ข้ามไปมาหาสู่กันเสมอๆ

        ณ ที่วัดนี้เองเจ้าอาวาสวัดในวัย กว่า ๗๐ ปีแล้วเป็นผู้ที่มีผู้คนที่ไกลๆและชาวบ้านในแถบชายแดนนั้นเคารพนับถือเป็นที่สุด ท่านเป็นคนที่มีอาคมขลัง รักษาโรคภัยไข้เจ็บให้ชาวบ้านตลอดจนเป็นเหมือนหมอผีที่คอยไล่ผี ไล่ความชั่วร้ายต่างๆให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนเสมอ

       เมื่อพระสมเดินทางมาถึงที่วัดนี้แล้วก็ได้แจ้งความประสงค์ให้เจ้าอาวาสรูปนั้นฟังว่า ได้เดินทางมาจากตำบลอันห่างไกลมาถึงที่ชายแดนพม่าแห่งนี้อยากจะแสวงหาอาจารย์ที่เก่งๆในทางคาถาอาคมเพื่อจะฝากตัวเป็นศิษฐ์และต้องการร่ำเรียนวิชาเหล่านี้ให้รู้แจ้งเห็นจริงเพราะว่ามีใจรักในทางนี้มากทีเดียว
         

      เจ้าอาวาสองค์นั้นก็ว่าถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องไปต่อที่ไหนแล้ว อยู่ด้วยกันเสียที่วัดนี้แหละอาตมาก็พอจะมีวิชาหลายๆอย่างพอจะสอนให้บ้าง เมื่อคุยกันก็ถูกคอกันดีพระสมและเพื่อนพระที่มาด้วยกันอีกองค์หนึ่งนั้นก็ตกลงใจที่จะพักอยู่ที่วัดนี้ก่อน เพราะก็รู้สึกว่าเหน็ดเหนื่อยอ่อนระโหยโรยแรงมากแล้วในการเดินทางผ่านป่าข้ามเขาที่ผ่านมา

       และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาพระทั้งสอง จากวัดบางลานก็พักอาศัยจำวัดปฏิบัติกิจของสงฆ์อยู่ที่วัดนี้ โดยในตอนเช้าตรู่ก็ออกบิณฑบาต กับพระลูกวัดทั้งหลายที่อยู่ที่วัดนี้ เมื่อมีเวลาว่างก็เริ่มต้นอ่านเขียนเรียนคาถาอาคมต่างๆ เกี่ยวกับการสักเลขลงยันต์ของทั้งพม่าและมอญให้อยู่ยงคงกะพัน
        และวิชาคาถามหาเสน่ห์ น้ำมันพราย  ตลอดจนขับไล่ภูติผีต่างๆพระอาจารย์ที่เป็นเจ้าอาวาสวัดนั้นก็สอนให้จนหมดสิ้นไม่มีปิดบังไว้  ตลอดจนถึงภาคปฏิบัติที่อาจารย์ผู้สอนได้พาไปในป่าช้าของวัด แล้วร่ายคาถาปลุกผีสาวชาวบ้านซึ่งตายทั้งกลม ขึ้นมาลนเอาน้ำมันที่ปลายคาง หยดลงมาใส่ขวดแล้วนำมานั่งปลุกเสกสวดยัตอาคมต่างๆ จนในที่สุดพระทั้งสองก็รับวิชาความรู้ต่างๆจนปฏิบัติได้อย่างคล่องแคล่ว 
          

       มีอยู่หลายครั้งพระทั้งสองก็ได้ทดลองวิชาอาคมที่ได้ร่ำเรียนมา เช่นเอาขี้ผึ้งที่ได้ปลุกเสกแล้วที่เรียกว่าขี้ผึ้งมหาเสน่ห์ แตะมานิดหน่อยมาป้ายกับหัวไก่แม่ลูกอ่อนซึ่งกำลังคุ้ยเขี่ยหาอาหารเลี้ยงลูกอยู่ที่ลานวัด พร้อมกับเป่ามนต์กำกับลงไปที่หัวไก่ เมื่อได้ทำเรียบร้อยแล้ว พระทั้งสองก็เดินไปอยู่ห่างๆ สักพักหนึ่งไก่ตัวนั้นก็จะเดินวนเวียนหาพระทั้งสองนั้น เมื่อเห็นพระยืนอยู่ก็เดินรี่เข้าไปหาทันที พระสมถึงกับอุทานว่า “ของเขาแน่นอนจริงๆ” พร้อมกับหัวเราะออกมาด้วยความชอบใจ 
      เวลาผ่านพ้นไปอีกหลายเดือนการร่ำเรียนคาถาอาคมต่างๆ ก็สำเร็จลงด้วยดีแล้ว พระทั้งสองก็นึกอยากจะกลับบ้าน เพราะว่าได้จากมาเกือบปีแล้ว ไม่ได้ส่งข่าวคราวกันเลย ในสมัยนั้นไม่มีทางใดที่จะติดต่อส่งข่าวกันได้  
        

      เช้าวันหนึ่งพระสมจึงเป็นผู้เอ่ยปากบอกลา โดยให้เหตุผลต่างๆเนื่องจากอยู่กันเป็นเวลานาน เจ้าอาวาสวัดนั้นก็มีความอาลัยเป็นอันมากที่ถึงเวลาแล้วพระทั้งสองจะต้องจากไป ก่อนจากไปนั้นหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดได้มอบของ สิ่งหนึ่งให้กับพระองค์ที่มากับพระสม เป็นตะกรุดดอกใหญ่ลงอักขระเลขยันต์มีสายเชือกยาวไว้สำหรับคาดเอว เจ้าอาวาสบอกว่า “ นี่เป็นตะกรุดเก่าแก่ของโบราณนานมาก ผู้ที่นำมาถวายให้ท่านไว้นั้นได้มาจากวัดๆหนึ่งในแถบชายป่าใกล้เมืองหงษาวดี 
           

      เราไม่เคยคิดจะให้กับใคร ขอมอบให้แก่ท่านจงคาดไว้ที่เอว เพื่อเป็นของลางของขลังป้องกันตัวเองเมื่อเดินทางอยู่ในป่า เดินไปทางทิศใด สิงห์สาราสัตว์ไม่เข้ามากล้ำกราย ตลอดจนโจรผู้ร้ายก็จะหลีกห่าง ขอให้ท่านรับเอาไว้ด้วยเถิด ส่วนของท่านสมนั้น ” หยุดพูดแล้วหันมาทางพระสม 
         

       “ผมขอมอบของสิ่งนี้ให้ท่านเก็บไว้จงรักษาดูแลให้เป็นอย่างดีทีเดียวนะ” พร้อมทั้งเอาของสิ่งหนึ่งมาให้พระสม มันเป็นม้วนกระดาษเก่าๆม้วนหนึ่ง พระสมมองดูแล้วเห็นเป็นของเก่าแก่มากทีเดียว เมื่อคลี่ออกดูแล้วเห็นเป็นรูปเก่าๆของชายคนหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพวาดด้วยสีดำมองคล้ายๆจะเป็นคนในสมัยโบราณ สังเกตได้จากการไว้ทรงผม

       เจ้าอาวาสเห็นพระสมมองภาพนั้นอย่างสงสัย จึงรีบพูดขึ้นว่า “ตามตำนานที่เล่าต่อๆกันมาเกี่ยวกับภาพนี้ซึ่งเป็นภาพเก่าแก่โบราณตั้งแต่ก่อนสมัยรัชการที่ ๑ นั่นแน่ะ ท่านผู้ที่อยู่ในภาพนี้เป็นนายทหารตำแหน่งสูงสมัยพระเจ้าตากสิน ซึ่งได้ตระเวนร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมากับ พระเจ้ากรุงธนบุรี 
       มีอยู่ครั้งหนึ่งได้มาทำศึกกับพม่าแถบๆชายแดนไทย ด้านเจดีย์สามองค์ คือแถวนี้นี่แหละ ท่านมาตั้งค่ายพักแรมกันที่ในป่านี้เป็นเวลานาน ได้มีช่างเขียนรูปคนหนึ่งที่เป็นทหารร่วมมากับกองทัพด้วย ได้เขียนรูปท่านไว้ในคราวนั้นด้วย ก็คือภาพนี้นั่นเอง 
        

       และต่อมาท่านหมื่นรามได้เสียชีวิตด้วยไข้ป่าในแถบแถวป่าชายแดนพม่านี้ ก่อนที่จะยกทัพกลับกันไม่นานนัก ในภายหลังวัดนี้ได้สร้างขึ้นมาและรูปนี้ก็มาอยู่ที่วัดนี้ได้อย่างไรก็ไม่รู้ นามของท่านคือ หมื่นรามราฆพ ซึ่งดูได้จากลายเขียนเป็นอักษรไทยลางๆ ว่า “หมื่นรามราฆพ”  ไว้ที่ด้านหลังของภาพ “ 
       พลางคว่ำกระดาษภาพนั้นลง มองเห็นตัวหนังสือไทยโบราณเขียนไว้อย่างเลือนราง แล้วเอ่ยอีกว่า คงไม่ใช่เป็นลายมือของท่านเขียนเองหรอก คงเป็นคนที่วาดรูปนั่นแหละที่เป็นคนเขียน
       

       “หลายครั้งแล้วที่ผมฝันเห็นท่านบ่อยๆ ผมจึงอยากจะขอแรงท่านสม นำกลับไปรักษาไว้แล้วสร้างศาลให้ท่าน ทำบุญไปให้ท่านด้วยคิดว่าท่านคงจะยินดีเป็นแน่ “  พระเจ้าอาวาสพูดแล้วก็ให้ศีลให้พรอีก ในวันนั้นกว่าจะออกจากวัดได้ก็สายมากแล้ว จากนั้นพระทั้งสององค์ก็เดินทางร่อนเร่พเนจรกลับในทางเดิมที่เดินทางขามานั้นเป็นเวลาหลายวัน ก็ถึงวัดบางลาน ถิ่นฐานบ้านเกิดโดยปลอดภัย  ต่อมาอีกไม่นานพระสมก็ลาสิขาบทจากการเป็นพระมาเป็นคนธรรมดา ได้แต่งงานกับสาวบางลาน ประกอบกิจการทำไร่ทำนามาด้วยความสุจจริต 
         

       และไม่ลืมที่จะรักษาคำพูดที่ได้รับปาก กับพระอาจารย์เจ้าอาวาสวัดแห่งชายแดนพม่าไว้ในเรื่องการสร้างศาลให้เจ้าพ่อหมื่นรามราฆพ และต่อมาก็ได้สร้างศาลหลังนี้ เป็นบ้านทรงไทยด้วยไม้สักทั้งหลัง อย่างสวยงาม และได้อัญเชิญเจ้าพ่อหมื่นรามมาเข้าทรงโดยนายสมเป็นร่างทรงของท่านเองตลอดมาจนทุกวันนี้
        

      “นี่เป็นที่มาของรูปภาพและเรื่องของ “เจ้าพ่อหมื่นรามราฆพ” อย่างคร่าวๆนะ” ลุงสมหยุดพูดแล้วยกถ้วยน้ำชาที่มีควันลอยกรุ่นอยู่นั้น ขึ้นมาซดช้าๆสลับกับเป่าลมปากลงไปที่ถ้วยน้ำชานั้นเพื่อเปนการไล่ความร้อนออกไป 
         

     ผมมองไปยังลานกว้างหน้าบ้านซึ่งขณะนี้มีการเล่นเพลงพื้นบ้านอยู่ ที่ลานบ้านนั้นเวลานี้แบ่งออกเป็นสองพวก ชายและหญิง มีพ่อเพลงชายและหญิงอยู่ฝ่ายละคน นอกจากนั้นอีกฝ่ายละนับสิบคน คอยเป็นลูกคู่และคอยกระเซ้าเย้าแหย่กัน เสียงหัวเราะกันฮา ฮาดังเป็นระยะ เสียงเพลงลอยดังมาว่ากันโดยฝายหญิงว่าก่อน แต่ในตอนนั้นลุงสมกำลังคุยอยู่ผมจึงได้ยินแว่วๆเท่านั้น จับใจความไม่ได้ว่าฝ่ายหญิงว่าอะไรบ้าง ได้ยินชัดๆอีกทีก็ฝ่ายชายร้องเพลงออดอ้อนเสียแล้ว เขาว่ากันเอาพอที่ได้ยินก็แล้วกัน


เกิดชาตินี้ขอฮักเดียว  ฮักบ่อลืม  (ท่อนหลังนี้ลูกคู่เป็นผู้ร้อง ตะโกนกันลั่น)
 โลกสลายเป็นเถ้าถ่าน  ฮักบ่อลืม
ได้นวลน้องครองใจอยู่  ฮักบ่อลืม
ดินถมหน้าห้าร้อยปี  ฮักบ่อลืม

            ในขณะที่ร้องนั้นก็ชี้หน้าชี้ตากระเซ้าเย้าแหย่กันไป บางคนก็ทำท่าเต้นหน้าแอ่นหลัง ทำตลกหัวเราะกันฮา ฝ่ายชายเห็นว่าออดอ้อนเท่านี้ไม่พอแน่ จึงต้องใส่ลงไปอีกกลอนหนึ่ง

จะซื่อตรงหลงเพียงนาง  ฮักบ่อลืม
ชื่นใจนักเห็นนางแก้ว   ฮักบ่อลืม
ชั่วดินฟ้าโลกาสิ้น   ฮักบ่อลืม
บ่อถวิลสิ้นจากนาง   น้องบ่อลืม

แล้วฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายร้องบ้างได้ยินเสียงแจ้วๆ
  
          แดดในยามเย็นอย่างนี้อ่อนลงแล้ว มีคนทยอยเข้ามาเพิ่มมากขึ้นอีกเสียงเพลงพื้นบ้านยังดังแว่วๆเข้ามา ผมพยายามเงี่ยหูฟังอยากจะจับใจความว่าฝ่ายหญิงเขาว่าอย่างไรบ้าง ลุงสมเห็นผมเงียบไปและตั้งใจฟังอย่างนั้นก็เอ่ยว่า “หลานชายลงไปเล่นกับเขาบ้างไหมล่ะ สนุกนะบางทีอาจจะมีคนอยากรู้จักบ้างก็ได้  “ 
          “ไม่เอาละครับเอาไว้โอกาสหน้าก็แล้วกัน เพียงได้แค่คุยกับลุงผมก็ดีใจมากแล้ว ผมจะต้องหาโอกาสมาเยี่ยมลุงอีกสักครั้งให้ได้เลยทีเดียว”
           ผมได้โอกาสเลยถามลุงสมในเรื่องที่ผมสงสัยจะถามลุงสมมานานตั้งแต่ตอนแรกแล้ว
“ เอ้อ....ลุงครับผมสงสัยอยากถามว่าทำไม ที่บ้านของลุงในวันนี้ จึงมีผู้คนมาชุมนุมกันมากมายอย่างนี้ ผมสงสัยว่าจะไม่ใช่มาชุมนุมเนื่องในวันสงกรานต์เป็นแน่
         

     “จริงอย่างที่หลายชายสงสัยจริงๆ ลุงจะบอกให้นะ ที่หลานเห็นว่ามีคนมาที่นี่มากมายนั้นจริงๆแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่นี่หรอก เป็นคนที่อื่น มาจากไกลๆก็มี แต่ที่มีมากที่สุดที่ได้รวมตัวกันมาก็คือพวกที่อยู่ นครปฐม โดยเฉพาะพวกที่มีสามีทำงานอยู่ที่คุก ที่นครปฐม (กรมราชฑันต์)  พวกที่มานี้จะมีปัญหาเรื่องสามีจึงได้มาพึ่งทางด้านไสยศาสตร์ ให้ลุงจัดการทำให้ ได้ผลบ้าง ไม่ได้บ้างก็แล้วแต่บุคคลไป นอกจากนั้นก็จะมาจากที่ไกลๆบ้าง คนพื้นบ้านแถวนี้ก็มีไม่น้อยนะ ”
           “ แล้วเขามาทำไมกันครับ  ”  

         ลุงสมหันมามองทางผมแล้วหันกลับไปมองคนที่ ยืนบ้างนั่งบ้าง และกำลังร้องเพลงแก้กันบ้าง อยู่ที่ลานหน้าบ้าน
          “พวกเขามากันวันนี้ก็เพราะว่าหลังจากสงกรานต์ สามวัน ในตอนค่ำๆจะมีพิธีบูชาบวงสรวง เจ้าพ่อหมื่นราม คล้ายๆกับผู้ที่มีครูก็จะทำการไหว้ครูทุกๆปี ก็เช่นเดียวกัน พิธีบูชาและบวงสรวงเจ้าพ่อหมื่นรามก็มีขึ้นทุกปีเหมือนกัน เสียดายหลานคงจะกลับเสียก่อน ก็จะไม่ได้ดูพิธีในตอนค่ำวันนี้”
          แล้วลงสมก็หันไปทางวาสนา  “ว่าไงหลานสาวอยู่ดูงานกันก่อนไหมล่ะ วันนี้ลุงต้องเข้าทรงเจ้าพ่อหมื่นรามด้วยนะ อยู่กันก่อนซี เจ็ดเสมียนแค่นี้เอง  ”
         “ไม่ได้หรอกลุง หนูบอกแม่ว่าจะกลับตั้งแต่ตอนบ่ายๆแล้ว ป่านนี้แม่รอแล้วละ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน โอกาสหน้าหนูจะมาเยี่ยมลุงใหม่ หวังว่าลุงคงจะยังจำหนูได้นะ”
          

      ลุงสมหัวเราะแล้วพูดว่า อีกสักประดี๋ยวค่อยกลับบ้านมันไม่หนีไปไหนหรอก
“ลุงบอกไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าหลานทั้งสองคนนี้มีดีอยู่ในตัวแล้ว เรามาคุยเรื่องนี้กันสักหน่อยวันเดือนปีเกิด อะไรบ้าง เขียนมาให้ลุงตรงๆนะ มาดูดวงกันสักหน่อยก่อน” 

       ว่าแล้วก็หยิบกระดาษสีขาวๆสองแผ่นพร้อมด้วยดินสอ ยื่นมาให้ผมกับวาสนา...

                                             

                                                     โปรดติดตามตอนต่อไป

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้281
เมื่อวานนี้549
สัปดาห์นี้281
เดือนนี้13199
ทั้งหมด1343083

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

4
Online