อารีย์ สุวรรณมัจฉา ๒


อารีย์ สุวรรณมัจฉา ๒

 

          นั่นเป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่นายหิรัญบิดาของคุณอารีย์ได้บันทึกไว้ เมื่อครั้งที่คุณอารีย์ยังเป็นเด็กๆ  เนื่องจากในขณะนั้น ครอบครัวของเรา ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ย้ายมาจากโพธาราม หรือตั้งแต่พวกผมยังไม่เกิด ยังไม่มีบ้านอยู่ และยังไม่มีหลักแหล่งที่แน่นอน อาศัยเช่าเขามาเรื่อยๆ หลายครั้งวนเวียนอยู่ในเขตเจ็ดเสมียนนั่นเอง แม้แต่กระทั้งคุณปราณี น้องสาวคนเล็กสุดของผม ก็เกิดที่บ้านเช่าหลังตลาดเจ็ดเสมียนแถวเก่า ในตอนนั้นก็ยังไม่มีบ้านตัวเองอยู่เลย

         แล้วในตอนสุดท้ายก็ได้มีห้องเป็นของตัวเองอยู่ในห้องแถวใหม่ที่กำนันโกวิท ปลูกขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงได้กลายเป็นเด็กตลาดโดยสมบูรณ์
         คุณอารีย์ก็เป็นเด็กตลาดเจ็ดเสมียนมีเพื่อนมีฝูงเป็นพวกเป็นหมู่ในตลาดเจ็ดเสมียน วิ่งเล่นกันตามประสาเด็กๆในตลาดเจ็ดเสมียนนั่นเอง เมื่อถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียนก็เข้าโรงเรียนพร้อมด้วยเพื่อนๆอีกหลายคนที่โรงเรียนเจ็ดเสมียน จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔

 

alt

อารีย์ สุวรรณมัจฉาใส่กางเกงมีสายสะพายนั่งคู่กับ ปราณี สุวรรณมัจฉา พร้อมกับเด็กเจ็ดเสมียนรุ่นพี่ที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๕

 ในตอนแรกๆนั้นมีบันทึกของนายหิรัญอยู่ตอนหนึ่งกล่าวว่า ไม่อยากจะให้อารีย์ได้ไปเรียนต่อ จบเพียง ป.๔ ก็พอแล้วเป็นลูกผู้หญิงไม่ต้องเรียนอะไรให้มาก หันมาเอาดีทางอาชีพ ถ้าจะเรียนก็จะให้เรียนทางวิชาช่างจะดีกว่า เช่นการเย็บปักถักร้อย นายหิรัญก็ได้ตั้งใจไว้เหมือนกันว่า จะให้คุณอารีย์เรียนการเย็บจักร เย็บเสื้อกระโปรงของผู้หญิง กับคุณสายทอง ซึ่งในเวลานั้นก็ได้เปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้า อยู่ที่ห้องแถวตลาดใกล้ๆกับห้องของนายชุ่ม ตัดผม และไม่ไกลจากห้องของเราเท่าไรนัก

alt

คุณอารีย์ ที่หน้าโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕

          แต่คงจะเป็นเพราะเหตุว่าคุณอารีย์ยังเด็กเกินไป ขายังสั้นถีบจักรเย็บผ้ายังไม่ถึง คุณสายทองผู้ที่จะมาเป็นครูสอนวิชาตัดเย็บเสื้อผ้าให้คุณอารีย์นั้น ก็ออกความเห็นว่าควรให้คุณอารีย์ไปเรียนต่ออีกสักพักหนึ่ง ถ้าจะให้มาเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้าจริงๆ ก็ต้องโน่นแหละ จบชั้นมัธยมปีที่ ๓ เสียก่อน หรืออีกสัก ๓ – ๔ ปี ละก็เป็นช่างตัดเย็บสื้อผ้าได้แน่ๆ
          นายหิรัญ ผู้เป็นบิดาคิดดูแล้วก็เห็นดีด้วย ในปีนั้นเมื่อคุณอารีย์เรียนจนจบชั้นประถมปีที่ ๔ ที่โรงเรียนเจ็ดเสมียนดังได้กล่าวมาแล้ว จึงพร้อมด้วยเพื่อนๆที่โรงเรียนเจ็ดเสมียนด้วยกันพากันไปสอบเข้าโรงเรียน  “โพธาราม โพธาวัฒนาเสนี”  ที่ในสมัยนั้นอยู่ที่ เยื้องหลังสถานีรถไฟโพธารามไปหน่อยหนึ่ง    อันว่าโรงเรียน โพธาฯ นั้น ในตอนนั้นเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากเป็นอันดับ ๑ ของอำเภอโพธาราม เด็กที่จบชั้นประถมปีที่ ๔ แล้ว จากโรงเรียนไหนๆต่างก็มาสมัครสอบแข่งขันกันเพื่อเข้าเรียนในชั้นมัธยมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนนี้ให้ได้ เพราะว่าโรงเรียนแห่งนี้รับนักเรียนจำนวนจำกัด ไม่ได้รับมากเกินไปเหมือนโรงเรียนอื่นๆ แต่จำนวนเด็กที่มาสมัครสอบนั้นมากมายนัก
  เด็กนักเรียนหลายคนจากโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนนั้นต่างก็คิดเผื่อกันไว้ว่าถ้าสอบเข้าโรงเรียนนี้ไม่ได้ก็ไม่ได้เสียใจอะไร เพราะนักเรียนที่มาสอบนั้นมากเหลือเกิน และก็พยายามกันอย่างเต็มที่แล้ว

 

alt

 

 

 กับเพื่อนนักเรียนโรงเรียน "โพธาวัฒนาเสนี" ด้วยกัน ถ่ายเมื่อ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๐๗ ซึ่งเป็นวัน ปิยะมหาราช เมื่อ ๔๓ ปีมาแล้ว (คุณอารีย์ ซ้ายสุด)

    เมื่อวันประกาศผลสอบมาถึง ปรากฏว่า เด็กเจ็ดเสมียนทั้ง ๓ คน คือ จินตนา  แววทอง  บุปผา ลักษิตานนท์   และอารีย์ สุวรรณมัจฉา ต่างก็สอบผ่านเข้าไปเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้สมใจ  ทั้งสามคนนี้ต่างก็ขมักเขม้นเรียนกันอย่างจริงจัง จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖

 

 

alt   
          

คุณอารีย์ สุวรรณมัจฉาศิษฐ์เก่าของโรงเรียนโพธาราม "โพธาวัฒนาเสนี"

ถ่ายที่ป้ายสถานีรถไฟ โพธาราม มองเห็นโรงเรียนอยู่ด้านหลัง

๒๓ ตุลาคม ๒๕๐๗

 

  เมื่อเรียนกันจนจบแล้วที่โรงเรียนโพธาวัฒนาเสนีนี้  ต่อมานายหิรัญผู้เป็นบิดาก็ยังปรารถนาให้คุณอารีย์เรียนต่อในทางอาชีพดังที่ได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกๆแล้ว เพราะเห็นว่าจะได้มีวิชาติดตัวภายในภาคหน้า  เมื่อเป็นดังนั้นแล้วคุณอารีย์จึงต้องไปหาโรงเรียนที่จะเรียนต่อในทางสายอาชีพ และต่อมาได้ไปสมัครเรียนต่อที่  โรงเรียน พณิชยการพระนคร ใกล้สนามม้านางเลิ้ง กรุงเทพฯ

 

 

alt

 

คุณอารีย์ เมื่อกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมที่โพธาราม ได้เข้ากรุงเทพฯกับเพื่อนรุ่นพี่ คนเจ็ดเสมียนด้วยกันที่เข้ามาอยู่กรุงเทพฯอยู่ก่อนแล้ว เพื่อมาดูลู่ทางที่จะเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯต่อไป

    นี่เป็นครั้งที่ ๒  ในชีวิตของการเข้าสอบแข่งขันกัน ครั้งแรกสอบเข้าโรงเรียน  โพธาฯ โรงเรียนดังของอำเภอโพธาราม และครั้งที่ ๒ ที่สอบผ่านนี้ก็โรงเรียนพณิชการพระนคร โรงเรียนที่มีชื่อเสียงทีสุดในเวลานั้น

         (โรงเรียนพณิชการพระนครนี้ คุณ มยุรี วิทยาลิขิต  “คุณเตียง” ก็สำเร็จวิชาการบัญชีจากโรงเรียนนี้ โดยเป็นนักเรียนรุ่นพี่ของคุณอารีย์)

 

alt

 

 คุณอารีย์เมื่อยังเป็นนักเรียนโรงเรียนพณิชยการพระนคร,นายแก้วยังเป็นพนักงานของการรถไฟ ได้ไปหาบิดาที่  อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ถ่ายที่ไร่อ้อยของโรงงาน น้ำตาลชลบุรีที่ได้ตัดอ้อยเข้าโรงน้ำตาลไปหมดแล้ว

 และอีกสิบกว่าปีต่อมา ที่โรงงานน้ำตาลชลบุรีแห่งนี้ ก็ได้มีเจ้าพนักงานตรวจเงินแผ่นดินคนหนึ่งพร้อมกับพวกเข้าตรวจบัญชีการเงินประจำปี คนนั้นคือ คุณอารีย์ สุวรรณมัจฉา นั่นเอง 

 

         ในขณะที่คุณอารีย์เรียนอยู่ที่โรงเรียนพณิชการพระนครนั้น ตัวผมเองได้ทำงานอยู่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีบ้านพักอยู่ที่นิคมของการรถไฟสี่แยกมักกะสัน เป็นยุคที่ ๒ หลังจากไปเป็นทหารมาแล้วก็ได้ขอกลับเข้ามาทำงานที่การรถไฟอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้อยู่นานนัก
          ต่อมาอีกไม่นานคุณปราณีน้องสาวของผมอีกคนหนึ่งก็ได้สอบเข้าและเรียนที่ โรงเรียนฝึกหัดครูสวนดุสิต จึงได้ไปอยู่กันที่บ้านพักการรถไฟกันทั้งสามคนพี่น้อง

 

alt

ปราณี  อารีย์   แก้ว เมื่อครั้งอยู่กันที่ บ้านพักของการรถไฟนิคมมักกะสัน

 

         ก่อนที่คุณอารีย์จะเรียนจบจากโรงรียนพณิชยการพระนครไม่นานนัก ตัวผมเองก็ได้ลาออกจากการรถไฟ ไปทำงานกับคนที่รู้จักกับบิดาของผมที่จังหวัดนนทบุรี และไปเช่าบ้านอยู่กันที่ ซอยวัดดงมูลเหล็ก ฝั่งธนบุรี 
         เมื่อคุณอารีย์เรียนจนสำเร็จที่โรงเรียนพณิชการพระนครเรียบร้อยแล้ว บิดาของผมบอกว่า สำหรับอารีย์ซึ่งเป็นผู้หญิงนั้นก็ขอให้เรียนเพียงเท่านี้ก็พอแล้วและให้หางานทำเลี้ยงตัวเองเสียก่อน ถ้าอยากเรียนอะไรก็เรียนไปด้วยและก็ทำงานด้วยก็ได้ 

alt

เมื่อพ.ศ.๒๕๑๐ ผู้เขียน คุณอารีย และคุณปราณี ได้ไปร่วมทอดกฐินของการรถไฟที่อำเภอบางปะอิน เสร็จแล้วได้ไปเที่ยวชมพระราชวังบางปะอินด้วย ในจำนวนนี้มีเพื่อนสนิทของผู้เขียนที่ทำงานการรถไฟด้วยกันอยู่ด้วยคนหนึ่งคือ    ม.ล.ธิปพงษ์ เกษมสันต์ (เสื้อลาย) ผู้เขียนเคยไปเที่ยวที่บ้านของเขาซึ่งอยู่ในกลุ่มของราชสกุล  "เกษมสันต์" ในซอยเกษมสันต์ ๑ หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ ปทุมวัน ม.ล.ธิปพงษ์ คอยบอกผู้เขียนเสมอเมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในหน่วยงานว่า "ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องกลัวมัน " ดูท่าทางท่านก็เข้มแข็งดีมาก แต่ก็ชอบเพลงของสุนทราภรณ์ เป็นชีวิตจิตใจ

 
         เมื่อเป็นดังนั้น คุณอารีย์จึงขวนขวายหางานทำ ในสมัยนั้นงานการก็หาไม่ได้ง่ายๆเหมือนๆกับในสมัยนี้ บางครั้งก็ซื้อหนังสือพิมพ์มาดูตรงแจ้งความประกาศรับสมัครทำงาน จนในวันหนึ่งอารีย์มาบอกผมว่าได้พบประกาศรับสมัครเสมียนทำบัญชี ๑ อัตรา ซึ่งจะตรงกับที่ได้ร่ำเรียนมาทางบัญชีพอดี เงินเดือนนั้นจะพิจารณาให้โดยต้องมาทดลองงานครบ ๑ เดือนเสียก่อน  และได้ส่งจดหมายไปสมัครงานนี้หลายวันมาแล้ว จนกระทั่งวันนี้มีจดหมายตอบมาจากบริษัทแห่งนี้ ให้ไปทดลองงาน


          ผมถามว่าบริษัทที่สมัครไปทำงานนั้นเป็นบริษัททำเกี่ยวกับอะไร อารีย์บอกว่า  เขาไม่ได้บอกว่ากิจการของเขาทำเกี่ยวกับอะไร เพียงแต่บอกว่าเป็นบริษัทที่มั่นคง
         คุณอารีย์ถามผมว่า บริษัทนี้อยู่ไกลมากอยู่ถึงบางขุนเทียนจะให้ไปทำงานหรือไม่  ผมบอกว่าในเมื่อเราสมัครกับเขาแล้วเราก็ควรจะลองดูว่าเป็นอย่างไร  และก็บอกว่าในวันแรกที่จะไปนั้นผมจะไปเป็นเพื่อนด้วยโดยลางานที่ทำอยู่ ๑ วัน เพื่อจะได้ไปเป็นเพื่อนกันในวันแรกนี้ และในวันต่อๆไปจะได้ไปเพียงคนเดียวได้เพราะว่าได้รู้เส้นทางบ้างแล้ว ถ้าทำงานที่นั่นต่อไปนานๆการเดินทางก็จะชำนาญไปเอง


           ดังนั้นในตอนเช้าของวันจันทร์วันที่ทางบริษัท ฯ ได้นัดกับคุณอารีย์ไว้  สองคนพี่น้องก็แต่งตัวให้ดูดีที่สุด โดยเฉพาะคุณอารีย์  เพราะคิดว่าอย่างน้อยการแต่งตัวที่ดีและเรียบร้อยนั้น บางทีผู้จัดการบริษัทนั้นจะรีบรับเข้าทำงานเลย  โดยที่ไม่ต้องสัมภาษก่อนก็ได้
          เราออกเดินทางจากบ้านเช่าที่ซอยวัดดงมูลเหล็กกันตั้งแต่เช้าโดยรถเมล์ บริษัทที่คุณอารีย์จะมาทำงานนั้นอยู่ทางบางขุนเทียน (ตอนนี้ก็จำไม่ได้แล้วว่ามันอยู่ตรงไหนของบางขุนเทียน) อยู่ริมถนนซอยแยกจากถนนใหญ่ที่รถเมล์วิ่งผ่านเข้ามาลึกพอสมควร สังเกตดูที่รถเมล์วิ่งผ่านๆมานั้น ถนนสายนั้นมีโรงงานตั้งอยู่มากมาย เมื่อมาถึงที่หมายตามที่บอกมาในแผนที่เราก็ลงจากรถเมล์ แล้วก็เดินไปตามถนนซอยนั้นไกลเอาการอยู่ก็ถึงที่หมาย ความคิดที่ว่าที่ทำการ หรืออ๊อฟฟิชของโรงงานนี้นั้นจะตั้งเด่นเป็นสง่า เหมือนที่ทำการบริษัทอื่นๆนั้น เห็นจะไม่ใช่เสียแล้ว


            เท่าที่มองเห็นคร่าวๆสถานที่แห่งนี้มองจากภายนอกจะเห็นโรงงานเหมือนโกดังใหญ่ มุงหลังคาด้วยสังกะสีลอนใหญ่ คิดว่าคงจะเป็นโรงงานที่ตั้งมานานแล้วสังกะสีที่มุงหลังคานั้นบางแผ่นสนิมขึ้นแดงไปหมด มีร่องรอยของการซ่อมหลังคามาหลายครั้งแล้ว ตอนหน้าโกดังนั้นเป็นที่ตั้งตึกทาสีเหลืองๆ สองชั้น คงจะเป็นที่ทำงานของบริษัทนี้นั่นเอง

          โรงงานแห่งนี้สร้างรั้วอิฐบล๊อกทึบเสียสูงลิบ มองไม่เห็นอะไรข้างในเลย หน้าตึกสีเหลืองๆนั้น เป็นประตูใหญ่ มีป้อมยามเล็กๆอยู่ข้างขวาของประตูด้วย ถ้าเราจะเข้าไปเราก็คงจะต้องติดต่อกับยามเสียก่อน
           จนในขณะนี้ผมและคุณอารีย์น้องสาวก็ยังไม่รู้เลยว่า โรงงานหรือบริษัทที่เรียกคุณอารีย์ให้เข้ามาทำงาด้วยนั้นเขาทำอะไร ประกอบกิจการอะไร  อารีย์มองหน้าผมเลิกลั่ก และบอกผมว่า  ไม่ค่อยจะดีเสียแล้วละมั๊ง อย่าเข้าไปกันเลย ยกเลิกกลับบ้านกันดีกว่า ผมก็ว่าในเมื่อเราอุตส่าห์ลงทุนมากันจนถึงนี่แล้วอย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้เลย เข้าไปดูกันให้แน่ไปเลย ว่าเขาทำอะไรกันแน่และควรจะทำงานที่นี่หรือไม่


            คุณอารีย์ได้ฟังผมบอกแล้วก็พยักหน้าเห็นด้วย ว่าแล้วเราก็เดินตรงไปที่ป้อมยามหน้าประตู เมื่อเราเดินไปใกล้ๆ มีชายคนหนึ่งโผล่ออกมาจากป้อมยามนั้น อายุเลยกลางคนแล้วหนวดเคราเฟิ้มแกคงจะเป็นยาม  แต่ไม่ได้มีเครื่องแบบเหมือนยามหรือ รปภ. ในสมัยนี้ผมบอกแกว่าจะเข้าไปติดต่อที่ภายในนี้ แล้วคุณอารีย์ก็เอาจดหมายเรียกตัว ของบริษัท ออกมาให้แกดู 
            ยามคนนั้นมองดูจดหมายสักครู่หนึ่งแล้วก็บอกให้รอตรงนี้ประเดี๋ยวจะเข้าไปถามข้างในดูก่อน ว่าแล้วแกก็ขยับตัวจะเดินเข้าไป แต่ก่อนที่แกจะเดินเข้าไปถามผู้จัดการข้างในนั้น ผมได้ถามยามคนนั้นว่าที่นี่เขาทำอะไรเป็นโรงงานทำอะไร ได้ยินยามตอบว่าเป็นโรงหล่อเหล็กและโรงกลึง พร้อมกับรับจ้างซ่อมเครื่องจักรใหญ่ๆสำหรับโรงงานต่างๆเช่นโรงทำน้ำแข็ง โรงงานทอผ้า เป็นต้น


            แล้วแกก็เดินเข้าไปภายในโรงงานนั้น ผมสังเกตดู ประตูใหญ่นั้นคงจะไม่ค่อยได้เปิดเท่าไรคงจะเปิดก็ต่อเมื่อมีรถยนต์เข้าออกเท่านั้น  ผมมองเข้าไปภายในโรงงานทางช่องประตูบานเล็กที่สำหรับคนเข้าออก ก็มองเห็นข้างในไม่ค่อยถนัดนัก มองดูคล้ายๆกับว่า จะมีกองเหล็กเศษเหล็กเก่าๆและใหม่ๆปนกันอยู่
ไม่นานนักยามคนนั้นก็เดินออกมา บอกว่าผู้จัดการให้เข้าไปพบได้ พลางเปิดประตูบานเล็กให้กว้างขึ้นอีกแล้วชี้ให้ผมและคุณอารีย์ดูว่าจะไปตรงไหน  เราสองคนพี่น้องก็เดินผ่านประตูเล็กเข้าไป


             ภายในโรงงานนั้นมีทางเดินเหมือนเป็นทางรถยนต์เข้าไปถึงหน้า อ๊อฟฟิชเลยทีเดียว เราสองคนเดินผ่านกองขี้เหล็ก ระกะระกะ  มองเห็นโรงงานเป็นเหมือนโกดังใหญ่อยู่ข้างหลังตึกสีเหลือง ๒ ชั้นที่เป็นอ๊อฟฟิชนั้น ข้างโรงงานเป็นถังน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ เหมือนกับถังน้ำมันที่อยู่บนรถบรรทุกน้ำมัน ๒ ถังคู่ มีร่องรอยคราบน้ำมันล้นไหลย้อยลงมาเลอะเทอะไปหมด

           ที่ตึกสีเหลือง ๒  ชั้นนั้นชั้นล่างเป็นที่ทำงานของพวกเสมียน ๒ -๓ คน แล้วมีชายวัยกลางคนๆหนึ่งนั่งอยู่ รูปร่างหน้าตาเป็นคนจีนชัดๆ หัวเถิกๆ หวีผมเรียบแปล้  ใส่เสื้อเชิ้ตขาวแขนยาว แต่งตัวเรียบร้อยเหมือนว่าจะออกไปธุระที่ไหนสักแห่ง ทำให้เรารู้กันเองว่าคนนี้แหละคือผู้จัดการ ส่วนชั้นบนนั้นคาดว่าน่าจะเป็นที่พักอาศัยของผู้จัดการและครอบครัว


         เมื่อได้ทักทายกันและแนะนำตัวเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว ผมก็ปล่อยให้คุณอารีย์คุยกับผู้จัดการคนนั้นไม่นานนัก คุณอารีย์ก็เดินออกมาบอกผมว่า ผู้จัดการเขาต้องการให้ทดลองงานในวันนี้เลยให้ผมกลับไปก่อน ถึงแม้ว่าผมจะเป็นห่วงเพราะว่าเพิ่งจะมาในวันแรกยังไม่คุ้นเคยสถานที่ดี แต่คุณอารีย์บอกว่า ไม่ต้องเป็นห่วงกลับเองได้ ตอนกลางวันก็จะกินข้าวที่ที่ทำงานเลยที่นี่เขาเลี้ยงข้าวกลางวันให้พวกเสมียนและพนักงานบางคนอยู่แล้ว ต่อมาผมจึงได้กลับไปบ้านก่อนในวันนั้น


          เมื่อคุณอารีย์ทำงานเกี่ยวกับบัญชี ๓ เล่ม ที่โรงงานแห่งนั้นได้ไม่กี่วันเท่านั้น  (จำได้ว่า ๓ วัน) ก็มาคุยกับผมว่าเห็นถ้าจะไม่เอาแล้วงานเป็นเสมียนที่โรงงานแห่งนี้การเดินทางไปทำงานจะต้องตื่นตั้งแต่ตี ๕ ออกจากบ้านเช่าที่ซอยวัดดงมูลเหล็กนั่งรถเมล์หลายต่อลำบากลำบนกับการเดินทางกว่าจะถึงโรงงาน 

          และสิ่งที่คุณอารีย์ไม่อยากจะทำงานทีนี่แล้วก็เป็นในเรื่องผู้จัดการเรียกเข้าไปคุยด้วยบ่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติคือว่า มีหัวหน้าเสมียนคนหนึ่งคิดว่าจะเป็นเมีย หรือเมียน้อยของผู้จัดการหรือเจ้าของโรงงานนี้ชอบมาเรียกให้ไปพบผู้จัดการถึงในห้องนอน อันเป็นสิ่งผิดปกติจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่คุณอารีย์ไม่อยากไปทำงานที่นี่แล้ว
           ดังนั้นในวันจันทร์ซึ่งเป็นวันเปิดทำการของพวกเสมียนพนักงานนั้น คุณอารีย์จึงไม่ได้ไปทำงานที่นั่นอีกเลย ซึ่งคุณอารีย์ก็คิดว่าคงไม่ได้ทำอะไรให้โรงกลึงนั้นเสียหายเพราะว่าเพิ่งทำงานไปได้  ๓ – ๔ วันเท่านั้นเองและเพิ่งจะเริ่มทดลองงานเท่านั้น โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะได้รับเงินเดือนเท่าไรด้วยซ้ำไป……..!

 

คุณอารีย์ ได้ทำงานที่โรงงานแห่งหนึ่งในแผนกบัญชี ได้เพียง ๓ วันเท่านั้นก็ลาออก จึงต้องเป็นคนตกงานต่อไป ชีวิตในวัยเริ่มทำงานของคุณอารีย์จะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามตอนที่ ๓ ได้ อีกไม่นานนี้ 

       ในเรื่องการไปเรียนต่อที่โรงเรียน พณิชยการพระนครนั้น ผมไม่ทราบว่า ใครเป็นคนแนะนำให้ไปเรียนที่นั่นและใครเป็นคนพาไปสอบในคราวนั้น  แต่ต่อมาเมื่อทางโรงเรียนประกาศผลการสอบ คุณอารีย์ก็สอบเข้าได้อย่างสะดวกง่ายดาย ทั้งๆที่มีผู้มาสมัครสอบกันอย่างล้นหลาม เพราะว่าโรงเรียนนี้เป็นที่หมายปองของเด็กๆมาก เป็นโรงเรียนของรัฐที่มีชื่อเสียงที่สุดในขณะนั้น จนกระทั่งทุกวันนี้

 

alt

นายแก้ว ผู้เขียน 

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้441
เมื่อวานนี้549
สัปดาห์นี้441
เดือนนี้13359
ทั้งหมด1343243

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online